วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 00:23 น.

การเงิน หุ้น

ธพว. เชื่อม Big Data พลิกโฉมเอสเอ็มอีสู่ยุคดิจิทัล

วันจันทร์ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561, 08.02 น.

ธพว. เชื่อม Big Data พลิกโฉมเอสเอ็มอีสู่ยุคดิจิทัล

 
 
SME Development Bank ประกาศเดินหน้าบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อยกระดับเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ ร่วมมหกรรม “SME TRANSFORM”  จัดสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 1 % พร้อมผนึก 5 หน่วยงาน ผลักดันเถ้าแก่ 4.0 เชื่อม Big Data ติดปีกเอสเอ็มอีสู่ยุคดิจิทัล
 
 
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.)  กล่าวว่า ธนาคารพร้อมทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างครบวงจรให้ก้าวสู่การเป็น “เอสเอ็มอียุคดิจิทัล” มีขีดความสามารถสูงพร้อมปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุค 4.0  โดยนำเทคโนโลยียุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร หุ่นยนต์ ดีไซน์ ระบบไอที และออนไลน์  มาช่วยสนับสนุนเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ
 
 
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนของ ธพว. จะถูกนำมาให้บริการภายในงาน 'SME TRANSFORM #พร้อมแล้วเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล'  ณ  Financial Zone   ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี  ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561  ได้แก่ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้เป็นเงินทุนยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1%   ต่อปี  ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในประวัติศาสตร์การให้บริการสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินไทย  สามารถกู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย  สำหรับนิติบุคคล  (บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล)  ไม่ต้องมีหลักประกัน  ผ่อนนาน 7 ปี  ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก  แม้จะมีประวัติการชำระเงินไม่สม่ำเสมอก็สามารถกู้ได้ ใช้เอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ
 
 
 
อีกทั้ง ได้นำหน่วย “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น”  มาจอดให้บริการภายในบูธ   พร้อมสาธิตการทำงาน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปพบผู้ประกอบการถึงสถานที่ประกอบกิจการจริงทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการยืนยันตัวตนและตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงใช้บัตรประชาชน  โดยทำงานควบคู่แอพพลิเคชั่น “SME D Bank” ที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอสินเชื่อผ่านสมาร์ทโฟน และติดตามสถานะในการพิจารณาสินเชื่อ ภายใน 7 วันถัดไป  ผ่านบริการ Call Center 1357
 
 
นอกจากนั้น เพื่อจะช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ธพว. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผลักดัน “เถ้าแก่ 4.0 สู่แหล่งทุน”   กับ 5 หน่วยงานนำร่อง ประกอบด้วย  สมาคมการพิมพ์ไทย  นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคม ,  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (คลัสเตอร์ยางพารา)   รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี  , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)  นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ,  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่  และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ โดย  ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้  เพื่อบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลเป็น “บิ๊กดาต้า” (Big Data) เพื่อการสร้างโอกาสสนับสนุนยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่ง
 
 
“อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์  ยางพารา รวมถึง ภาคเกษตรล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง  ทว่า ปัจจุบัน ยังประสบปัญหาปรับตัวไม่ทันต่อการแข่งขัน  การลงนามครั้งนี้ จึงนับเป็นมิติใหม่ของร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะผนึกพลังร่วมกันพัฒนาโดยยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างครบวงจร ผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักร และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” นายมงคล กล่าว
 
 
นอกจากนั้น เพื่อให้เห็นตัวอย่างจริงแห่งความสำเร็จ ภายในงานนี้ ธนาคารได้นำต้นแบบของเอสเอ็มอียุคดิจิทัลมาแสดงในมุม “SME Show Case” เช่น  แบรนด์ ‘Tonnam’ จ.เชียงราย ธุรกิจคลัสเตอร์สมุนไพรไทยที่ประสบความสำเร็จจากการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ "Alibaba"  หรือ แบรนด์ "หม่ำอินเตอร์" จ.ขอนแก่น ที่สร้างมาตรฐานอาหารพื้นบ้านอย่าง “หม่ำ” จนก้าวไปไกลระดับสากล เป็นต้น  ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้เอสเอ็มอีรายอื่นๆ เห็นว่า หากมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม  มาตรฐาน ดีไซน์ และออนไลน์ จะสามารถก้าวถึงความสำเร็จได้เช่นกัน รวมถึง ยังก่อให้เกิดการต่อยอด เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยกันเอง เพื่อช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน    นำไปสู่การสร้างสังคมผู้ประกอบการไทยอันจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป