วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:10 น.

การเงิน หุ้น

แบงก์กรุงศรีชี้ส่งออกทรุดหนัก หั่น ศก.ไทยโตเหลือ 2.9 %

วันพฤหัสบดี ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2562, 14.18 น.

พิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ธนาคารกรุงศรีฯปรับรอบ 3 ลดเศรษฐกิจไทยโตแค่ 2.9 % ส่งออกติดลบ 2.8 % เผยอุตสาหกรรมส่งออก “อิเล็กทรอนิกส์-เคมีภัณฑ์-ยานยนต์” ลดลงหนักสุด ฉุดกำลังซื้อถดถอย

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ความเชื่อมโยงของการส่งออกกับภาคเศรษฐกิจไทย” โดยมองว่ามองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4 ด้วยปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน คาด ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงนอกจากนี้ผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศน่าจะค่อยๆลดลง จากการที่ธนาคารกลางของประเทศสำคัญต่างๆ ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 คาด GDP จะอยู่ในช่วง 3.2-3.4 % และในปีหน้าคาด GDP โตที่ 3.5 % ฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยหนุนในประเทศ กำลังซื้อน่าจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรุงศรีปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP ปีนี้เป็น 2.9 % จาก 3.2 % เป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 สะท้อนการขยายตัวในอัตราที่ลดลงในไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลชัดเจนมากขึ้น และสงครามการค้าทวีความรุนแรง ขณะที่ความเชื่อมั่นในประเทศลดลง

ขณะเดียวกันคาดว่าการส่งออกน่าจะติดลบในปีนี้  -2.8 % ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งภาคส่งออกมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนคิดเป็น 50 % ของ GDP โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ยอดส่งออกไทยปรับลดลง 2.9 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกลดลงคิดเป็น 87 % ของอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกทั้งหมด นำโดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์   

สำหรับการหดตัวของส่งออกในครึ่งปีแรก ส่งผลต่อ 66 % ของอุตสาหกรรมไทย ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางลบโดยอ้อมในหลายๆกลุ่มธุรกิจ ผลกระทบระดับรุนแรง ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ส่วนผลกระทบปานกลาง อาทิ กลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การว่างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 80 % ของแรงงานทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย สะท้อนว่าผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อของแรงงานน่าจะอยู่ระดับปานกลาง โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท

สำหรับด้านปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ มองความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีมากกว่าปัจจัยในประเทศ ความเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นปัจจัยนอกประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงกว่าที่คาด ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของโลก เช่น เหตุการณ์ในตะวันออกกลาง และผลกระทบจากสงครามการค้า

“สถานการณ์โจมตีในคลังน้ำมันซาอุจะส่งผลกระทบในระยะสั้น โดยปริมาณสำรองน้ำมันโลกมีเพียงพอประมาณ 1 เดือน คาดราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 66.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งไม่ได้เป็นระดับที่หวือหวามากนัก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีไม่มาก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว