วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:51 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.38 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงหนัก”

วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.42 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.38 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงหนัก”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม)

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินฝั่งไทย เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.91-33.52 บาทต่อดอลลาร์) ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หลังสหรัฐฯ กับจีนบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว ซึ่งภาพดังกล่าวได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด จนล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ (นักวิเคราะห์บางส่วนถึงกับปรับเปลี่ยนมุมมองการลดดอกเบี้ยจากกลับมาลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนธันวาคม) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่มีจังหวะย่อตัวลงไปถึงโซน 3,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย กอปรกับความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมทั้ง รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ เอเชีย

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงจับตาพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า หลังล่าสุด สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราวกับจีน ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จนทำให้มีการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด จากที่เคยประเมินไว้ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้ง เป็นเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน จากที่ตลาดเคยมองไว้ในการประชุมเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด

 

ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ด้วยเช่นกัน

 

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปีนี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าฝั่งเอเชีย รวมถึงรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อย่าง บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alibaba, Tencent และ JD.com ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียได้พอสมควร 

 

ฝั่งไทย – เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เริ่มมีภาพของความไม่แน่นอนปรากฎขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มเงินดอลลาร์ ราคาทองคำซึ่งอาจมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง (แม้จะยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐาน Correction Phase) รวมถึงทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ที่อาจพอได้แรงหนุนจากอานิสงส์ข้อตกลงทางการค้าชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยในสัปดาห์ 6-9 พฤษภาคม เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทย จากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ แต่ฝั่งบอนด์อาจทยอยเห็นแรงขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์ไทย ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทมีโอกาสกลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่า หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับของเงินบาท (USDTHB) อาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์)

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังโมเมนตัมการอ่อนค่ามีกำลังมากขึ้น โดยเงินบาทยังพอมีแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับ เงินดอลลาร์ รวมถึงแนวโน้มราคาทองคำและบรรดาสกุลเงินเอเชีย ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น อาจเห็นแรงซื้อหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ทว่าอาจเห็นแรงขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์สั้นและบอนด์ยาวของไทยมากขึ้น

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง และมีความเสี่ยง Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยต้องรอลุ้นว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ จะยังคงออกมาสดใส หรือไม่

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.95-33.75 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์