วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 23:15 น.

ข่าวสังคม

สภากาชาดไทยชวนบริจาคสเต็มเซลล์ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเลือด

วันจันทร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564, 00.57 น.

สภากาชาดไทยชวนบริจาคสเต็มเซลล์ เพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโรคเลือด เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เชิญชวนผู้บริจาคโลหิตร่วมลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2564 ระหว่างวันที่ 13-18 กันยายน 2564 ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ ผู้บริจาคโลหิตพร้อมลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ รับ “เสื้อยืด Thank You Stem Cells Donor” เป็นที่ระลึก

รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การจัดงานวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก จัดขึ้นตามที่องค์กร World Marrow Donor Association กำหนดให้วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 กันยายน 2564 เป็นวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก (World Marrow Donor Day) เพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคสเต็มเซลล์ และอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ อีกทั้งเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการจัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 38 ล้านราย โดยกิจกรรมดังกล่าวถูกจัดขึ้นครั้งแรก ในปี 2558 มีมากกว่า 55 ประเทศ ร่วมจัดกิจกรรม

ในประเทศไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา จัดตั้ง “ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ” ทำหน้าที่จัดหาอาสาสมัครผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์ ที่ไม่ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์ที่ให้กับผู้ป่วยจะต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นศูนย์กลางทะเบียน ตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันจัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ในประเทศไทย ได้จำนวน 299,628 ราย แต่มีผู้ที่บริจาคได้จริงให้กับผู้ป่วย เพียงจำนวน 457 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จำนวน 2,407 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ในทางการแพทย์แล้วการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่าย เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคทางโลหิตวิทยาให้หายขาดจากโรคดังกล่าวได้ แต่การที่จะเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์นั้นเป็นไปได้ยากด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่มีผลเนื้อเยื่อ HLA ตรงกันกับผู้ป่วย เนื่องจากหากเป็นพี่น้องท้องเดียวกันจะมีโอกาสตรงกัน 1 ใน 4 จึงต้องใช้สเต็มเซลล์จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก เพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้น ดังนั้น การรณรงค์จัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์เพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกด้วย