วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 17:16 น.

ประกัน

คปภ. โชว์ผลงานครึ่งปีแรก ยกระดับกฎกติกา

วันเสาร์ ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 22.04 น.

คปภ. โชว์ผลงานครึ่งปีแรก ยกระดับกฎกติกา

เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยสู่มาตรฐานสากล

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่ง “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในระยะยาว ด้วยการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีมาตรฐาน ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมประกันภัย ควบคู่กับการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างสมดุลที่ไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย นอกจากนี้จะยกระดับศักยภาพองค์กร ให้มีบุคลากรที่มีศักยภาพและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ตรวจสอบ และบริการประชาชน รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ผ่าน 3 พันธกิจที่สำคัญคือ (1) พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาท สร้างเสริมความเข้มแข็ง มั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และ (3) คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรมจากการประกันภัย

 

ในด้านนโยบาย ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และขับเคลื่อนภารกิจตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เป็นภูมิคุ้มกันของประเทศในการบริหารความเสี่ยง ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (Microinsurance) กรมธรรม์ประกันสุขภาพ กรมธรรม์ประกันภัยพืชผล กรมธรรม์ PA ที่รองรับนโยบายภาครัฐ : กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสำหรับนักท่องเที่ยวขับเคลื่อน Regulatory Reform หรือ Regulatory Guillotine และเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบ รวมถึงการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 (RBC 2) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทนอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจประกันภัย โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างครบวงจร ดังนี้

 

ปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อลดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยเน้นการผ่อนคลายกระบวนการให้ความเห็นชอบอัตราเบี้ยประกันภัยมากขึ้น ประกอบด้วย กระบวนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ เพิ่มบทบาทนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ปรับปรุงการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราเบี้ยประกันภัย กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Product Committee) ภายในบริษัท โดยมีหน้าที่พิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายของบริษัท เพื่อลดข้อผิดพลาดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัท และเพิ่มกระบวนการกลั่นกรองจากบริษัทประกันภัย พร้อมให้มีการเปิดเผยข้อมูลโดยกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยค่า Commission หรือ Distribution Cost ตลอดจนปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยให้เป็นมาตรฐาน อาทิ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมธรรม์ประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ

ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆ ได้แก่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ สนับสนุนและผลักดันผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุใหม่ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบบำนาญ แบบเงินรายงวดตลอดชีพ และแบบประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care Insurance) พัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตร ให้ครอบคลุมพืชผลหลากหลายประเภทมากขึ้น จัดทำการประกันภัยประมง พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย เช่น การประกันภัยเคหะไมโคร กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการทำเหมืองแร่ ฉบับแรกของประเทศไทย

 

ปรับปรุงระบบการประกันภัยสุขภาพของไทย ให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยวางกรอบแนวทาง การปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพ ประกอบด้วย การปรับปรุงสัญญาสุขภาพมาตรฐานให้มีเงื่อนไขในสัญญาและแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การกำกับอัตราเบี้ยประกันภัยสุขภาพให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสัญญาสุขภาพมาตรฐานที่มีการปรับปรุง การปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูล สถิติ สำหรับปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยสุขภาพให้มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

การประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สำหรับคุ้มครองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1) และการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในอันเนื่องมาจากการบาดเจ็บซึ่งเกิดในระหว่างการเดินทางในประเทศไทย

 

ส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจประกันภัยพร้อมรับกติกาสากล สำนักงาน คปภ. ได้เข้ารับการประเมินภาคการเงิน สาขาการประกันภัย (Financial Sector Assessment Program – FSAP) โดยผ่านการประเมินทั้งหมดตาม ICPs 26 ข้อ และได้คะแนนอยู่ในระดับดีเทียบชั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยของประเทศไทย

 

ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น (ส่งเสริมการควบรวม) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทประกันภัย รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพด้านช่องทางการจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

 

เรื่องที่สอง เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยได้เร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และนำฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ขยายขอบเขต Insurance Regulatory Sandbox เปิดโอกาสให้ Startup หรือ Techfirm ทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้มากขึ้น และจะสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยมี Sandbox ของตนเอง หรือเรียกว่า Own Sandbox จะต่อยอดApplication  “Me Claim” ที่เปิดตัวไปแล้วเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พัฒนาระบบ OIC Gateway พัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนงานด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย (Insured Right Protection Management System) ขับเคลื่อนศูนย์ Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัยใหม่ๆ จัดทำมาตรฐานกลางสำหรับการเขียนโปรแกรมผ่าน Web Service/Web Application/ Mobile Application และพัฒนา Software จัดทำระบบตลาดกลางสำหรับการขายกรมธรรม์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Insurance Market) รวมทั้งพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (I-SERFF) ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับเคร่งครัด

เรื่องที่สาม ยกระดับพฤติกรรมทางตลาดและคุ้มครองสิทธิประโยชน์  โดยได้จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรือ Fraud Database และยกระดับมาตรฐานคนกลางประกันภัยให้มีความโปร่งใส และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยออกแนวปฏิบัติการกำกับตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตตามประกาศเสนอขายที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่าน ได้แก่ ประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทประกันภัย พ.ศ. 2562 หรือ “ประกาศ CG (Corporate Governance)”

 

เรื่องที่สี่ ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย โดยได้ผลักดันการกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย(กลุ่มที่ 1) เรียบร้อยแล้ว และเร่งผลักดันการปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการการออกกฎหมาย ได้แก่ ร่างกฎหมายแม่บท กลุ่มที่ 2 และ 3 และร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล และพัฒนากฎหมายประกันภัยอื่น เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนศึกษาแนวทาง การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ เพื่อยกระดับการประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสุขภาพที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศโดยเฉพาะ

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า จากเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวค่อนข้างต่ำ และชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีหลังของปี 2561 โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าและการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศจีนและยูโรโซนขยายตัวต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี2561 ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอื่นๆ ชะลอตัวลงตามการปรับตัวของมูลค่าการส่งออกในหลายๆประเทศ และสำหรับธุรกิจประกันภัยไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2562) ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รวมทั้งสิ้น 207,208 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 4.92 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 147,857 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 7.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 99,283 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 8.87 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม จำนวน 12,295 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.16  นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมจากการประกันภัยสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 20,924 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.54 ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 59,351 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 35,873 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.67 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 4,816 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.71 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 31,057 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.14 รองลงมา คือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 19,681 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.85 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,375 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 4.63 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 1,412 เติบโตลดลงร้อยละ2.36

 

ทั้งนี้ สำหรับอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 39.53 เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.81 โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมต่อจำนวนประชากร จำนวน 12,809.10 บาท จากเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร 9,281.07 บาท และเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจำนวนประชากร 3,528.03 บาท และสำหรับสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันภัยมีทั้งสิ้นจำนวน 4,084,264 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 6.33 และสินทรัพย์ลงทุนจำนวน 3,730,146 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็น สินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตจำนวน 3,393,058 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.31 และสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวน 337,087 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.62 นอกจากนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังมีกรมธรรม์ จำนวน 804,784 ฉบับ ขยายตัวร้อยละ 13.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และธุรกิจประกันวินาศภัยยังมีกรมธรรม์ จำนวน 16,632,152 ฉบับ ขยายตัวร้อยละ 11.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวย้ำว่า สำนักงาน คปภ. มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของตลาดและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพให้ระบบประกันภัยของประเทศ พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานและระบบงานเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจมีความรวดเร็ว คุ้มค่าและเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านบทบาทการบริหารจัดการภายในองค์กร สร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตและสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม พัฒนาระบบการกำกับและตรวจสอบด้านเสถียรภาพ พฤติกรรมการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบประกันภัย พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี และฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันภัยของประเทศให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่ และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยต่อไป