วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 00:51 น.

ต่างประเทศ

ชาวเมียนมาเฮ! "ซูจี"เผยก.พ.นี้ เริ่มฉีดวัคซีนโควิด 15 ล้านคน

วันจันทร์ ที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2564, 09.28 น.

วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เพจเชียงตุง อยู่ดีกินหวานได้โพสต์ข้อความว่า  นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งประเทศเมียนมา เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาได้ลงนามจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 จากประเทศอินเดีย พร้อมจะเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับชาวเมียนมาโดยเฉพาะในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

"เบื้องต้น รัฐบาลเมียนมาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนราว 15 ล้านคน ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเมียนมา"  นางอองซาน ซูจี ระบุ

วันนี้ 3 มกราคม 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ติดโรคระบาดเพิ่มขึ้น 574 ราย ส่งผลให้จำนวนติดเชื้อสะสมเป็น 125,616 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 14 ราย รวมเสียชีวิตสะสมที่ 2,711 ราย

อินเดียไฟเขียววัคซีน"แอสตร้า-ภารัตไบโอเทค" 

อินเดียไฟเขียววัคซีน‘แอสตร้า-ภารัตไบโอเทค’โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ระบุว่า วัคซีนนี้ทำให้ชาวอินเดียทุกคนภาคภูมิใจ และวัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินล้วนผลิตในอินเดีย
          
เลขาธิการ อ.ย.อินเดียอนุมัติวัคซีนโควิด 2 ตัวของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด และภารัตไบโอเทค ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน
          
วี จี โซมานี เลขาธิการสำนักงานควบคุมยาอินเดีย แถลงวานนี้ (3 ม.ค.) ว่า สำนักงานอนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด และบริษัทยาอินเดีย "ภารัตไบโอเทค" ได้ในกรณีฉุกเฉินประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดอยู่ที่ 70.42% ส่วน "โคแวกซิน" ของภารัตไบโอเทคนั้นปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างแข็งแกร่ง
          
ทั้งนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด อินเดียผลิตเองโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ส่วนโคแวกซิน ภารัตไบโอเทคร่วมมือกับสภาวิจัยทางการแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล
          
ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยินดีกับการอนุมัติวัคซีน
          
"นี่ทำให้ชาวอินเดียทุกคนภาคภูมิใจ วัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินล้วนผลิตในอินเดีย" นายกฯ อินเดียทวีตข้อความ พร้อมระบุด้วยว่า นี่คือสัญญาณของการเป็นประเทศพึ่งพาตนเอง
          
เมื่อวันเสาร์ (2 ม.ค.) ประกาศ ชวาเดการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและกระจายเสียงเผยกับผู้สื่อข่าวว่ายังมีวัคซีนรออนุมัติอีก 2 ตัวคือวัคซีนไซคอฟ-ดีของไซดัสคาดิลา บริษัทยาอินเดีย และสปุตนิกไฟว์ของรัสเซีย ทั้งสองตัวทดลองทางคลินิกในอินเดีย
          
"เผลอๆ อินเดียเป็นประเทศเดียวที่มีวัคซีนพร้อมใช้ถึง 4 ตัว ตัวหนี่งอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินไปแล้วเมื่อวันศุกร์(1 ม.ค)" รัฐมนตรีกล่าวหมายถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด ที่ผลิตเองในประเทศโดยสถาบันเซรุมแห่งอินเดีย (เอสไอไอ)
          
ข่าวการอนุมัติโคแวกซินเกิดขึ้นหลังจากสุพราหมาณิยัน สวามี สมาชิกพรรคชาตินิยมของนายกฯ โมดี บ่นผ่านทวิตเตอร์ว่า วัคซีนที่พัฒนาโดยต่างชาติผ่านการอนุมัติแล้ว แต่วัคซีนอินเดียที่ทดสอบกับประชาชนในประเทศหลายพันคนยังต้องรอ
          
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด ที่ได้รับการอนุมัติจากอังกฤษเป็นชาติแรก เมื่อวันอังคาร (29 ธ.ค.) ราคาถูกและใช้ง่ายกว่าวัคซีนคู่แข่งบางตัว เช่น วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนตัวแรกที่ชาติตะวันตกไฟเขียวตอนนี้ยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินในอินเดียแล้วด้วย
          
อย่างไรก็ตามวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดยังมีข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. พบว่า ฉีดครึ่งโดสตามด้วยเต็มโดสป้องกันโควิดได้ 90% แต่ฉีด 2 โดสเต็มได้ประสิทธิผล 62% ส่วนวัคซีนอินเดีย "โคแวกซิน"แหล่งข่าววงในเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หลังฉีดไปแล้ว 2 โดสประสิทธิภาพอาจมากกว่า 60%
          
อินเดียมีผู้ติดโควิด-19 กว่า 10.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 150,000 คน แต่อัตราการติดเชื้อลดลงมากตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.ที่เคยพุ่งสูงสุด รัฐบาลหวังว่าช่วง 6-8 เดือนแรกของปีนี้จะฉีดวัคซีนให้ประชากร 300 ล้านคนจาก 1,350 ล้านคน โดยจะเริ่มต้นจากผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปี คนที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า
          
ด้านเอสไอไอ บริษัทผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก ตอนนี้มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดแล้วราว 50 ล้านโดส จะขายให้รัฐบาลในราคาโดสละ 250 รูปี (106 บาท) และขายให้บริษัทเอกชนในราคาโดสละ 1,000 รูปี (410.65 บาท)
          
การอนุมัติวัคซีนทำให้อินเดียเริ่มฉีดวัคซีนครั้งใหญ่สุดของโลกได้ รัฐบาลเองก็ซ้อมมือทั่วประเทศแล้ว ด้วยการอบรมการฉีดวัคซีนให้บุคลากรสาธารณสุข 96,000 คน
          
การอนุมัติวัคซีนรอบนี้โซมานีย้ำว่า สำนักงานจะไม่อนุมัติยาใดๆ "หากมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม" ยืนยันว่า วัคซีนปลอดภัย 100% ผลข้างเคียง เช่น ไข้ต่ำ ปวดเมื่อ และแพ้ก็เหมือนกับวัคซีนทุกตัว
          
องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ก็ยินดีกับข่าว ปูนัม เคทราพาล ซิงห์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของดับเบิลยูเอชโอ แถลงว่า การใช้วัคซีนกับประชากรกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และการมีส่วนร่วมของชุมชน สำคัญยิ่งในการลดผลกระทบของโควิด-19
          
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจล่าสุดจากประชาชน 18,000 คนทั่วประเทศ พบว่า 69% ไม่รีบฉีดวัคซีน
          
"ตอนแรกผมก็ตื่นเต้นเรื่องวัคซีน แต่ตอนนี้ไม่แล้วเพราะไม่ผมไม่ไว้ใจ ผมจะไม่ไปฉีดวัคซีน" วิชัย ดาส นักการธนาคารวัย 58 ปีกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี สะท้อนความกลัวที่เกิดขึ้นทั่วอินเดีย

สธ.ยันฉีดวัคซีนให้คนไทยฟรี 70 ล้านโดสล็อตแรก 2 แสนโดสปลายก.พ.นี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในรัฐบาลไทย โดย สธ.ร่วมมือกับหลายฝ่ายว่าเมื่อถึงเวลาอันสมควรไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ช้าไปกว่าประเทศส่วนใหญ่ มีข้อมูลออกไปทางโลกโซเชียลและหลายฝ่ายมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนสับสนและไม่แน่ใจ ทำงานเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลว่าวัคซีนของเจ้าใด จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ มีการเตรียมข้อมูล วางเป้าหมาย มีกลไกลที่ทำให้ได้วัคซีนมา เป้าหมายยังไม่เปลี่ยน ยังจะฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐ และเป็นการฉีดฟรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร เป็นวัคซีนเกือบ 70 ล้านโดส

"สิ่งที่เราเตรียมการคือ 1.ต้นทุนในมือ เรื่องการเจรจาของบริษัทแอสทราเซเนกา ที่ใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้เราทำสัญญา 26 ล้านโดส อยู่ระหว่างการผลิตในประเทศไทย คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะได้ฉีดให้กับคนไทย บนแรงกดดันเราไม่ได้หยุดแค่นี้ อีกร้อยละ 20 จึงมีการเจรจาร่วมกับโคแวกซ์ (COVAX) แต่เป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากมีความยุ่งยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และอีกร้อยละ 10 ทำข้อตกกับบริษัทที่คิดว่ามีโอกาสผลิตวัคซีนสำเร็จ" นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีความพยายามเจรจากับหลายฝ่าย ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา วัคซีนประเทศจีน และอาจจะขอซื้อเพิ่มเติมจากแอสทราเซเนกาได้ ซึ่งจะเพิ่มให้ถึงเป้า และข่าวดีที่เกิดขึ้น 2-3 วันที่ผ่านมา คือ บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จะนำวัคซีน 2 แสนโดส เข้ามาไทยในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน ปลายเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 2 ล้านโดส

"วัคซีนไม่ใช่สินค้าที่จะไปช้อปปิ้ง วันนี้สภาพของตลาดวัคซีนไม่ได้มีอยู่มากมาย ที่สำคัญต้องมีระบบควบคุมคุณภาพและปลอดภัย หากมีคนเอามาขายจากโรงงานไม่ได้มาตรฐาน แล้วมีปัญหา เราคงไม่ซื้อมาฉีดให้คนไทย"   นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า 

ไม่ได้ห้ามบริษัทเอกชนที่นำเข้าวัคซีน แต่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยก่อน ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องผลการทดลองว่ามีความน่าเชื่อหรือไม่ โรงงานผลิตเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่