วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 11:06 น.

ต่างประเทศ

38 ราย! UNเผยเผด็จการทหารเมียนมาสังหารหมู่ม็อบ

วันพฤหัสบดี ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2564, 09.47 น.

38 ราย! UNเผยเผด็จการทหารเมียนมาสังหารหมู่ม็อบ  "US-EU"ตกใจพร้อมจี้จีนเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ ผู้แทนน.ศ. 5 มหาวิทยาลัย"ไทย-มาเลย์-ไต้หวัน"ร่วมประฌามเหตุการณ์สงครามการเมือง

วันที่ 4 มี.ค.2564 นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำเมียนมาเปิดเผยว่า มีผู้ประท้วงในเมียนมาเสียชีวิตแล้ว 38 รายในขณะนี้ หลังกองทัพเมียนมาได้เปิดฉากยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวานนี้ โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา          

ทูตพิเศษ UN ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันเพิ่มแรงกดดันให้กองทัพเมียนมายุติการกวาดล้างผู้ชุมนุม โดยนอกจากจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว ขณะนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทหารยิงอย่างน้อย 30 ราย
          
สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อาจจะจัดประชุมเป็นการภายในในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า UNSC จะแสดงจุดยืนเดียวกันในประเด็นเมียนมาหรือไม่ เนื่องจากจีนซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC ยังคงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพเมียนมา

เผด็จการทหารเมียนมาไม่หวั่น UN ขู่คว่ำบาตร 

ทั้งนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ในวันนี้ (4 มี.ค.) ว่า นางคริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวว่า ได้มีโอกาสติดต่ออีกครั้งกับ พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐของเมียนมา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเธอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า การที่รัฐบาลทหารยังเดินหน้าใช้มาตรการรุนแรงต่อเนื่องกับประชาชนจะทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะนำไปสู่การที่หลายประเทศจะยกระดับมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ และเพิ่มการโดดเดี่ยวต่อเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการคว่ำบาตรนั้น พล.อ.โซ วิน ตอบทูตพิเศษของยูเอ็นว่า เมียนมาคุ้นชินกับการคว่ำบาตร และเอาตัวรอดได้เสมอ ส่วนประเด็นการถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกนั้น ต้องเลือกคบเพื่อนทั้งนี้ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ตลอดจนสหภาพยุโรป ( อียู ) ต่างมีมาตรการคว่ำบาตรอย่างเจาะจงต่อกองทัพเมียนมา และส่งสัญญาณพร้อมยกระดับความเข้มข้นของมาตรการอีก

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 ราย

เผด็จการทหารเมียนมาไม่สน UN-US-EUโวย  
          
นายโบ คยี เลขาธิการร่วมกลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า เปิดเผยในเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย แต่ตัวเลขเพิ่มเป็น 38 ศพในช่วงท้ายๆของวัน   ในเมืองย่างกุ้ง  ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย ในนั้น 7 คนตายระหว่างที่กองกำลังด้านความมั่นคงเปิดฉากรัวยิงเข้าใส่ย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในบริเวณทางเหนือของเมืองในช่วงเย็น
          
นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประทศสหรัฐฯ กล่าวในวอชิงตัน ว่าสหรัฐฯตกใจกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพม่า พร้อมบอกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังประเมินมาตรการต่างๆอย่างเหมาะสมเพื่อตอบโต้ และบอกว่าความเคลื่อนไหวใดๆนั้นจะเล็งเป้าเล่นงานไปที่กองทัพพม่า
          
นอกจากนี้แล้วโฆษกรายนี้ยังบอกด้วยว่าสหรัฐฯได้ส่งสารไปถึงจีน บอกกับพวกเขาว่าอเมริกากำลังรอคอยให้ปักกิ่งเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในพม่า
          
ด้านสหภาพยุโรประบุว่าการยิงพลเรือนที่ไม่มีอาวุธและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมบอกด้วยว่ากองทัพพม่ากำลังยกระดับปราบปรามสื่อมวลชน โดยพบเห็นผู้สื่อข่าวถูกจับและตั้งข้อหามากขึ้นเรื่อยๆ
 
องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ระบุในถ้อยแถลงว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น มีเด็กรวมอยู่ด้วย 4 ราย ในนั้นรวมถึงเด็กชายวัย 14 ปี ที่ทางวิทยุเอเชียเสรี รายงานว่าถูกทหารนายหนึ่งยิงตาย ระหว่างเดินผ่านขบวนรถบรรทุกทหาร โดยจากนั้นทหารก็นำร่างของหนูน้อยขึ้นรถบรรทุก พาศพออกไปจากที่เกิดเหตุ
          
สำนักข่าวเมียนมาร์นาว รายงานว่ากองกำลังด้านความมั่นคงเข้าสลายการชุมนุมในย่างกุ้ง ควบคุมตัวผู้ประท้วงไปราวๆ 300 ราย โดยจากคลิปวิดีโอที่มีผู้โพสต์ทางสื่อสังคม แสดงให้เห็นคนหนุ่มๆ เรียงแถวกันโดยมือวางอยู่ที่ศีรษะ ถูกต้อนให้ขึ้นไปยังรถบรรทุกทหารหลายๆ คัน ขณะที่ตำรวจกับทหารยืนเฝ้ารักษาการณ์อยู่ ทั้งนี้รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นของจริงหรือไม่ 
          
ขณะที่ คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยวิทยุเอเชียเสรี ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็น ตำรวจในย่างกุ้งออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน 3 คนออกมาจากรถฉุกเฉินคันหนึ่ง, ยิงกระจกบังหน้าหน้า, แล้วจากนั้นก็เตะและตีเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วยพานท้ายปืนและไม้กระบอง

ผู้แทนน.ศ. 5 มหาวิทยาลัย"ไทย-มาเลย์-ไต้หวัน"ร่วมประฌาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงการณ์ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมาลายา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อเมื่อวันที่ 3 มีนาคม เรื่อง ประณามการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมทางการเมืองในประเทศเมียนมา

จากกรณีการรัฐประหารของกองทัพนำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หลังการประกาศชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (The National League for Democracy – NLD) นำโดย ออง ซาน ซูจี จนเกิดการชุมนุมต่อต้านและการอารยะขัดขืนโดยขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) และโดยประชาชนชาวเมียนมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผู้แทนนิสิตนักศึกษาเห็นว่า การกระทำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และกองทัพเมียนมา แม้ได้อ้างอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร (Constitutionalization of a coup d’?tat) แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือโดยธรรมชาติแล้วการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายในตัวเอง อีกทั้งการตรวจสอบการเลือกตั้งยังสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของกองทัพแต่อย่างใด ทั้งเพื่อการรักษาไว้ซึ่งหลักการทางประชาธิปไตยและการแบ่งแยกอำนาจของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการเคารพต่อเจตจำนง

แห่งประชาชนชาวเมียนมา อีกทั้ง ยังพบว่ารัฐบาลรักษาการได้ปิดกั้นการสื่อสารของประชาชนทางอินเทอร์เน็ต และใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย การกระทำทั้งหมดนี้ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นหลักการสากล ผู้แทนนิสิตนักศึกษาจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานาธิบดีวิน มินต์ และประชาชนที่ถูกควบคุมตัวไว้ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข

2.ขอให้กองทัพยุติการปราบปรามผู้ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารด้วยความรุนแรง และยุติการปิดกั้นการสื่อสารของประชาชนชาวเมียนมา
          
3.ขอเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศและรัฐทั่วโลก มีมาตรการตอบโต้กรณีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา และกดดันกองทัพเมียนมา เพื่อให้เมียนมากลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ผู้แทนนิสิตนักศึกษาสนับสนุนการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนชาวเมียนมา อีกทั้ง เห็นว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมืองในระบอบการปกครองตามหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ดังนั้น สภานิสิตนักศึกษาคาดหวังว่าสถานการณ์ฉุกเฉินในเมียนมาจะสิ้น สุดลง และรัฐบาลพลเรือนจะได้คืนสู่อำนาจโดยเร็ว

ผู้แทนองค์กรนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย
3 มีนาคม 2564

คณะสงฆ์เมียนมา 2 สายจี้เผด็จการทหารเมียนมาหยุดใช้ความรุนแรง

ขณะเดียวกันคณะสงฆ์เมียนมาจากสายธัมมจริยะทวิปิฏกและสมณศักดิ์อภิวังสะ และคณะสงฆ์สายปริยัติ เมืองมัณฑะเลย์ กระทรวงการศาศนาเมียนมา ได้ร่วมกันออกแถลงกาณ์ เรียกร้องให้เผด็จการทหารเมียนมาหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังและเคารพผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่กระทรวงสารสนเทศอย่างน้อย 115 รายร่วมอารยะขัดขืน

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในกระทรวงสารสนเทศของเมียนมาอย่างน้อย 115 ราย ปฏิเสธที่จะปฏิบัติงานภายใต้กองทัพที่ก้าวขึ้นมาจากการรัฐประหาร พร้อมแสดงจุดยืนร่วมอารยะขัดขืนยืนเคียงข้างประชาชนทวงประชาธิปไตยคืนสู่สังคมเมียนมา