วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 21:37 น.

ต่างประเทศ

เมียนมาจ่อเป็น "รัฐล้มเหลว" ยอดม็อบตายพุ่งทะลุ 500 คนแล้ว

วันอังคาร ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564, 12.37 น.

วันที่ 30 มีนาคม 2564 สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยเปิดเผยว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 500 คนนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังคงทำการประท้วงต่อเนื่องในวันนี้ เพื่อแสดงอารยะขัดขืนครั้งใหม่ด้วยการขนขยะออกมากองตามถนนสายต่างๆ ในประเทศ          

ข้อมูลจาก AAPP ระบุว่า พลเรือนชาวเมียนมาได้ถูกสังหารล่าสุดจำนวน 14 คนเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) โดยในจำนวนนี้มี 8 คนที่เสียชีวิตในเขตดากองใต้ของเมืองย่างกุ้ง
          
ด้านสถาบันโลวี (Lowy Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของออสเตรเลียระบุว่า ขณะนี้เมียนมากำลังจะกลายเป็น "รัฐล้มเหลว หรือ Failed State" และจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในเมียนมา
          
เฮิร์ฟ เลมาเฮ ผู้อำนวยการของสถาบันโลวีกล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นเรื่องยากที่จะรับมือได้ เนื่องจากกองทัพเมียนมายังคงปกครองประเทศด้วยอำนาจปืน ด้วยเหตุนี้เมียนมาจึงถลำเข้าสู่การเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพมากขึ้น และปกครองได้น้อยลงในแต่ละวัน

คณะมนตรียูเอ็นประชุมพรุ่งนี้เลขาฯวอนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกดดันเผด็จการทหารเมียนมา

 ขณะเดียวกัน บรรดาชาติมหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐฯและฝรั่งเศส ต่างประณามการที่คณะรัฐประหารใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดร้าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ปล่อยตัวนางซูจีและบรรดาแกนนำพรรค NLD ทันที หลังถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันทำรัฐประหาร โดยเฉพาะสหรัฐฯประกาศระงับข้อตกลงทางการค้ากับเมียนมาจนกว่าเมียนมาจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
          
ด้านนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้ทุกประเทศทั่วโลกแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อกดดันรัฐบาลเมียนมาให้คืนอำนาจให้ประชาชน หลังการสลายการประท้วงด้วยวิธีการที่รุนแรง เช่น แก๊สน้ำตา กระสุนยางและกระสุนจริงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 107 ราย พร้อมขอให้คณะรัฐประหารของเมียนมาคิดอย่างจริงจังเรื่องแผนการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มประชาสังคม​ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ จี้ รบ.ไทยช่วยหยุดความรุนแรงในเมียนมา
 
กลุ่มประชาสังคม ประกอบด้วยประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ราชการกว่า 56 องค์กร และ 65 บุคคล ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อหยุดความรุนแรงในเมียนมา เพราะนับตั้งแต่กองทัพเมียนมานำโดยนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา และจับกุมนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นเอลดี และใช้อาวุธสังหาร ใช้เครื่องบินถล่ม สังหารประชาชนเมียนมาที่ออกมาชุมนุมต่อต้านอย่างสันติกระทั่งเด็ก คนไร้ทางสู้อย่างไร้มนุษยธรรม จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 400 รายถูกจับกุมนับพันคน มีประชาชนจำนวนมากกำลังหนีความรุนแรงอพยพข้ามฝั่งมาประเทศไทย แต่หลายคนก็ยังปักหลักชุมนุมประท้วงต่อไป ขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็กำลังปะทะกับกองทัพพม่าเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน สถานการณ์ในขณะนี้กำลังเข้าใกล้สู่สงครามกลางเมืองแล้ว
          
ความรุนแรงที่ชาวเมียนมากำลังเผชิญในเวลานี้เป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดของภูมิภาคอาเซียนในรอบหลายสิบปี กระทบต่อภูมิภาคอาเซียนทั้งในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่อาเซียนกลับยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของกองทัพพม่าอย่างรุนแรงเพียงพอ โดยยังยึดหลักนโยบายการฑูต “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Engagement) ที่จะไม่แทรกแซงการเมืองภายในของประเทศสมาชิก
          
โดยเฉพาะรัฐบาลไทยที่เป็นผู้นำก่อตั้งอาเซียน และเคยมีบทบาทเจรจาสันติภาพในภูมิภาคตลอดมา กลับมาท่าทีที่เฉยเมย ไม่กล่าวประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเกรงว่าหากแสดงบทบาทประณามหรือต่อต้านกองทัพพม่า รัฐบาลไทยจะสูญเสียบทบาทตัวกลางในการเจรจากับกองทัพเมียนมา แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างที่รัฐบาลไทยต้องไปสนับสนุนกองทัพเมียนมา ดังที่ถูกสงสัยว่าส่งข้าวสาร เสบียงอาหารให้ทหารเมียนมาตามแนวชายแดน คอยสอดส่องจับตัวแกนนำต่อต้านรัฐประหารที่หลบหนีเข้าประเทศไทย และยังส่งตัวแทนเข้าร่วมในงานวันกองทัพเมียนมา ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพากันบอยคอตและประณามการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมา ท่าทีของรัฐบาลไทยดังกล่าวไม่เพียงแต่เมินเฉยต่อความรุนแรงที่ชาวเมียนมาประสบ แต่ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมายิ่งขึ้น และจะทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ในสายตาโลกยิ่งขึ้นไปอีก
          
พวกเรามีความห่วงใยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้เข้าใกล้ภาวะสงครามกลางเมือง และจะนำมาสู่การล่มสลายของความเป็นชาติเมียนมาและประชาคมอาเซียนด้วย เกินเลยไปกว่าที่จะยึดมั่นในนโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์แล้ว เพราะเหนือกว่านโยบายภูมิภาคดังกล่าว ยังมีข้อตกลงระดับโลกที่ประเทศไทยยังมีพันธะผูกพันคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยให้ช่วยกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการยุติความรุนแรงที่กองทัพเมียนมากระทำต่อประชาชนโดยทันที ดังต่อไปนี้ 1.รัฐบาลไทยร่วมกับอาเซียน ต้องสื่อสารและกดดันกองทัพเมียนมาอย่างตรงไปตรงมา ให้หยุดการใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยทันที 2.รัฐบาลไทยร่วมกับอาเซียนต้องเข้าแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเป็นตัวกลางเจรจายุติความรุนแรง โดยให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งเข้าร่วมเจรจาสันติภาพ
          
3.รัฐบาลไทยร่วมกับอาเซียนต้องยืนหยัดสนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชน โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มประชาชนที่คัดค้านได้แสดงออกอย่างสันติ โดยไม่จับกุม ปราบปราม 4.รัฐบาลไทยร่วมกับอาเซียนยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย เรียกร้องและส่งเสริมให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมากลับคืนมา 5. รัฐบาลไทยควรเตรียมมาตรการความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากการปราบปราม หากมีผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย ควรทำความเข้าใจกับคนไทยถึงความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ไม่รังเกียจ หรือเห็นเป็นผู้แพร่เชื้อโควิด และควรยับยั้งความคิดเหยียดเชื้อชาติ และ 6.หากจำเป็นที่สหประชาชาติต้องส่งกองกำลังสันติภาพเข้าคุ้มครองประชาชนเมียนมา รัฐบาลไทยก็ควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง