วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 23:13 น.

ไอที

ETDA เผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560

วันอังคาร ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561, 17.01 น.

ETDA เผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560

กลุ่ม B2B ยังครองมูลค่าสูงเช่นเดิม ถึง 1.6 ล้านล้านบาท

 
 
 
ETDA แถลงตัวเลขคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560 โดยมีการแบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G และแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม โดยกลุ่ม B2B ยังครองมูลค่าสูงเช่นเดิม ถึง 1.6 ล้านล้านบาท มั่นใจอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง จับมือสถาบันการศึกษา ตั้ง e-Commerce Park ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นแห่งแรก
 
 
นางสุรางคณา  วายุภาพ  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,812,592.03 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B ประมาณ 1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.56% รองลงมา เป็นมูลค่าของประเภท B2C จำนวนมากกว่า 812,612.68 ล้านบาท หรือ 28.89% และส่วนที่เหลือราว 324,797.12 ล้านบาท หรือ 11.55% เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G  ซึ่งเมื่อเทียบมูลค่า       อีคอมเมิร์ซของปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 8.63% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 15.54%
 
 
 
ขณะที่ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 869,618.40 ล้านบาท (30.92%) อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 658,131.15    ล้านบาท (23.40%) อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 417,207.07 ล้านบาท (14.83%) อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 404,208.00 ล้านบาท (14.37%) อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 104,904.28 ล้านบาท (3.73%) อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 19,716.04 ล้านบาท (0.70%) อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 11,280.33 ล้านบาท (0.43%) และอันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 2,729.65 ล้านบาท (0.10%)
 
 
จากการคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560 พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี ETDA จึงเตรียมจัดตั้ง e-Commerce Park โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ที่จะเป็นตลาดแรงงานในตลาด e-Commerce ต่อไปในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ สำหรับการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับประเทศอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง e-Commerce Park ระหว่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ  e-Commerce Park อันจะเป็นเครื่องมือสนับสนุน และอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรม e-Commerce ตลอดจนธุรกิจ SMEs ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในติดต่อค้าขายระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศที่ดี
 
 
อันจะช่วยยกระดับการแข่งขันให้มีมาตรฐานและทัดเทียมสากล ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว                 ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในครั้งนี้
 
 
สำหรับแนวคิดในการสร้าง e-Commerce Park ของไทยขึ้นเป็นแห่งแรกนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ ฝึกอบรม จัดทำโครงการต่างๆ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้แล้ว  ETDA ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของตลาดแรงงานด้วย โดยได้เตรียมทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศหลายแห่ง ให้จัดส่งนักศึกษาที่จบใหม่ หรือนักศึกษาที่ต้องการทำงานระหว่างเรียน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ e-Commerce Park Thailand โดยทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมและคำแนะนำ ให้กับผู้ผลิต หรือประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ และความเข้าใจในการขายสินค้าออนไลน์อย่างถูกต้อง และมั่นคงปลอดภัย
 
 
นอกจากนี้ ETDA ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Dongguan China Council for the Promotion of International Trade (Dongguan CCPIT) ประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานตามนโยบายของ Dongguan Municipal Government  ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือ และการค้าระหว่างประเทศของภาคธุรกิจในเมือง Dongguan (ตงกวน) ซึ่งเป็นเมืองอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน และเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยีชั้นนำของโลก  เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม 
 
 
 
โดยเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้มีด้วยกัน 5 ด้าน คือ 1. เพื่อการแลกเปลี่ยน พัฒนา รวบรวมความรู้ ข้อมูลทักษะการปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 2. การแลกเปลี่ยนบุคลากร การปรึกษาหารือ กระบวนการทำงานร่วมกัน และ/หรือ โครงการที่จัดทำขึ้น 3. จัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้ง การบรรยาย การจัดอบรมสัมมนา และ/หรือโครงการวิจัย ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ร่วมกันตามความเหมาะสม
 
 
4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมปัจจุบันและวางแผนกิจกรรมที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และ5. การส่งเสริมกิจกรรมอื่นๆเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศจีน และทั่วโลก
 
 
จากต้นแบบความสำเร็จของ e-Commerce Park ที่ประเทศจีนนั้น  พบว่า “หัวใจ” หรือ Key success factor ของการพัฒนา  e-Commerce ในประเทศจีน คือ การสร้าง e-Commerce Park ที่มีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่มีพื้นที่สำหรับการดำเนินงานร่วมกันของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ, ศูนย์ฝึกอบรม, ส่วนให้คำปรึกษา, ส่วนพื้นที่คลังสินค้า และพื้นที่สำหรับการทำ Workshop ด้วย
 
 
“การก่อตั้ง e-Commerce Park นี้เกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำไม e-Commerce ของจีนถึงได้เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และไทยจะสามารถนำบทเรียน ความรู้ และ Succeed Case ด้าน e-Commerce ของจีนมาประยุกต์อย่างไรในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยพบว่า ปัจจัยหลักของการเติบโตของ e-Commerce จีนคือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนผ่าน e-Commerce Park ซึ่งเป็นเสมือนสื่อกลาง และศูนย์รวมความรู้ ความเข้าใจในการทำ e-Commerce เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ โดย e-Commerce park แต่ละแห่งก็จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น การทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing /Content) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) โลจิสติกส์ (Logistics) และการนำเข้า-ส่งออก (Cross-Border e-Commerce) เป็นต้น โดย e-Commerce Park เหล่านี้เปรียบเสมือน One Stop Service ที่ยึดโยง ส่งเสริมผู้ประกอบการจีนให้มีความเข้มแข็งตลอด e-Commerce Ecosystem ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”  นางสุรางคณา  กล่าว
 
 
ETDA ยังคงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรวมถึงบุคลากรในประเทศ โดยพยายามศึกษาและต่อยอดให้ e-Commerce ไทยสามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ของตลาด           e-Commerce ถือเป็นก้าวที่สำคัญทั้งต่อ ETDA และ e-Commerce ไทย ในการเสริมอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยในการมองทุกการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะผลักดันให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป
 
 
...

หน้าแรก » ไอที

ข่าวในหมวดไอที