วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 19:34 น.

การตลาด

เครือซีพี ร่วมงาน" ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM

วันจันทร์ ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 17.45 น.

เครือซีพี ร่วมงาน" ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM 

 

 

ผู้ว่าการ JBIC  และ ประธานอาวุโส เครือซีพี ขึ้นเวที ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM (APIF) ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ หัวข้อ “Connectivity in Asia recent development s in regional trade” หวังสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

เมื่อวันที่ 6-8 ธันวาคม 2562 มีการประชุม ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM (APIF) ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคครั้งสำคัญที่มีผู้นำธุรกิจ นักการทูต และตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ  กว่า 200 คนได้รับเชิญเพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือในอนาคตที่จะต้องรับมือกับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเอเชีย โดยวันที่ 7 ธันวาคม 2562 นายทะดะชิ มะเอะดะ (Mr.Tadashi Maeda) ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำจากประเทศไทย ได้รับเชิญให้อภิปรายร่วมกันภายใต้หัวข้อ “Connectivity in Asia recent developments in regional trade”

 

ในการนี้ นายธนินท์ ได้กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจของโลก และยังเป็น 1 ใน 3 ผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกซึ่งนับว่ามีศักยภาพไม่แพ้จีนและสหรัฐฯ เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเปรียบเสมือนเงิน ซึ่งนี่คือโอกาสของญี่ปุ่น นอกจากนี้ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น จะทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาส 3 ด้านคือ เงิน ทุน เทคโนโลยี (Money, Fund, Technology) จึงมั่นใจว่าญี่ปุ่นต้องมีอนาคตที่สดใส

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย 70 ปีถือเป็นเวลายาวนาน ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทย และชื่นชอบที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย โดยอยากเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่านอกจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนแล้ว ญี่ปุ่นจะชวนนักลงทุนจากสหรัฐฯและเยอรมนี มาลงทุนในไทยได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้เห็นถึงความสำคัญเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของประเทศไทย โดย JBIC ได้เข้ามาสนับสนุนอีอีซีอย่างเต็มที่ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไทย  ทั้งนี้ ประธานอาวุโสเครือซีพี มั่นใจว่าความสำเร็จในการร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ จะดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ ระยะทาง 200 กม. ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่

 

สำหรับประเด็นคำถามว่า จะให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนใน EEC อย่างไรท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนั้น ประธานอาวุโสเครือซีพี ตอบว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ สิ่งที่ทำได้คือการสนับสนุนให้คนญี่ปุ่น และจีน มาถ่ายทอดและอบรมให้คนไทยได้เรียนรู้ฝึกฝน อย่างเช่นรถไฟความเร็วสูงที่ไทยไม่มีประสบการณ์ โดยความรู้ เทคโนโลยี และความร่วมมือของญี่ปุ่น กับไทย ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือของภูมิภาค  และการที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในอีอีซีร่วมกับประเทศอื่นทำให้เกิดการสร้างมาตรฐาน ทำให้เห็นว่าอีอีซีเป็นโครงการที่ดี

 

ในการนี้ ประธานอาวุโสเครือซีพี มีความเห็นว่าญี่ปุ่นมีความโดดเด่นทางด้านซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี ขณะที่จีนมีต้นทุนที่ต่ำ ความร่วมมือระหว่าง จีน ญี่ปุ่น และไทย จะก่อให้เกิดโมเดลใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือ"การลงมือทำ" เพราะไม่มีโครงการไหนสำเร็จได้ถ้าปราศจากการลงมือทำ

 

พร้อมกันนี้ได้ตอกย้ำว่าโอกาสการลงทุนของญี่ปุ่นคือ การมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีเงินทุน ในขณะที่ทวีปยุโรป เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีเทคโนโลยีอัตโนมัติ ซึ่งญี่ปุ่นก็ควรใช้หลักการเดียวกัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจในเอเชียคืออินเดีย จีน และอินโดนีเซีย

หน้าแรก » การตลาด