วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 18:46 น.

การตลาด

(CENTEL) พลิกทำกำไร 22 ล้านบาท รับอานิสงส์เปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 กระตุ้นยอดขายและกำไรเติบโตกว่าไตรมาสก่อนและปีก่อน

วันจันทร์ ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 15.10 น.
ไตรมาส 2/2564: บริษัทฯมีรายได้รวม 4,340 ล้านบาท (ไตรมาส 2/2564: 2,690 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,650 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 61%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 33%: 67% (ไตรมาส 2/2564: 12% : 88%) รายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรมได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตราการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 690 ล้านบาท (หรือ 228%) จากไตรมาส 2/2564 โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 23% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 2/2564: 11%) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 607 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 104%
 
 
สำหรับธุรกิจโรงแรม โรงแรมในประเทศไทยมีผลดำเนินงานฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาอย่างมีนัยสำคัญ   โดยรับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่มัลดีฟส์เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 474% อยู่ที่ 2,188 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจาก 12% ในไตรมาส 2/2564 เป็น 49% ในไตรมาส 2/2565 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 39% เทียบปีก่อน เป็น 4,472 บาท 
 
 
ธุรกิจอาหาร  มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีการลดลงเป็นลำดับ และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆของภาครัฐทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและมีการกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS)  19% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตมาจากฐานต่ำเนื่องจากไตรมาส 2/2564 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ในระลอกที่ 3  กอปรกับการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทำให้ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) อยู่ที่ 25% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
 
แม้ว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 จะลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยลบต่อการดำเนินงานในอนาคต เช่น ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ค่าโดยสารเครื่องบินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ บริษัทฯ ได้วางแผนในการจ่ายคืนเงินต้นสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ปัจจุบัน บริษัทดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.8 เท่า ดีขึ้นเทียบสิ้นปีที่ผ่านมา (ปี 2564: 0.9 เท่า) จากการลดลงของหนี้สิ้นที่มีภาระดอกเบี้ยและการเพิ่มขึ้นของส่วนผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า
 
 
ปี 2565 บริษัทประมาณการ ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 2565 (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 45% - 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,900 – 2,200 บาท และสำหรับธุรกิจอาหาร บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS)  10% ถึง 15% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา   สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา  บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 200-250 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2564
 
 
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 91 โรงแรม (19,149 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 48 โรงแรม (10,007 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 43 โรงแรม (9,142 ห้อง) ในส่วน 48 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 19 โรงแรม (5,050 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 29 โรงแรม (4,957 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร
 
 
สำหรับธุรกิจอาหาร บริษัทฯ มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดดำเนินการรวม 1,512 สาขา ดังนี้ 1.เคเอฟซี (305) 2.มิสเตอร์โดนัท (457) 3.โอโตยะ  (46) 4.อานตี้แอนส์ (202) 5.เปปเปอร์ลันช์ (48) 6.ชาบูตง ราเมน (16) 7.โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ (16) 8.โยชิโนยะ (32)   9.เดอะ เทอเรส (6)  10.เทนยะ (12)  11.คัตสึยะ (52)  12.อร่อยดี (37) 13.อาริกาโตะ (162) 14.เกาลูน (1)
15.แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (25) 16.สลัดแฟคทอรี (25) 17.บราวน์ คาเฟ่ (15) 18.คาเฟ่ อเมซอน – เวียดนาม (12)
19.ส้มตำนัว (5) 20.ชินคันเซ็น ซูชิ (38)

หน้าแรก » การตลาด

ข่าวในหมวดการตลาด