วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 08:28 น.

การเมือง

สถ.ย้ำ"อปท."ดำเนินการป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค

วันพฤหัสบดี ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561, 11.01 น.

สถ.ย้ำ"อปท."ดำเนินการป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค


เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบันว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรวม 17,302 ราย จำนวนผู้ป่วยเสียชีวิต 21 รายมีอัตราป่วย คือ 26.28 ต่อประชากรแสนคน มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าปี 2560 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 23.93 (1.23 เท่า) การกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 87.97 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี (64.52) อายุ 15 – 24 ปี (48.50) อายุ 0 - 4 ปี (32.04) และอายุ 25 - 34 ปี (25.16) ตามลำดับ การกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออกรายภาค พบว่า ภาคใต้ อัตราป่วยสูงที่สุด เท่ากับ 39.21 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วย 3,653 ราย รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง อัตราป่วย 35.02 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วย 7,767 ราย ภาคเหนือ อัตราป่วย 24.74 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วย 3,069 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 12.83 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วย 2,813 ราย

 

อธิบดีกล่าวต่อว่า กรมฯ เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 มาตรา 45 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 มาตรา 50 (4) มาตรา 53 (1) มาตรา 56 (1) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 มาตรา 67 (3) ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและพิจารณากำหนดเรื่องการควบคุมและป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรคเป็นวาระจังหวัด โดยมอบหมายท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการจัดทำแผนงานในการดำเนินงานป้องกันโรคดังกล่าว และให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ร่วมดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ เช่น การกำจัดลูกน้ำยุง การรณรงค์และการดำเนินการเชิงรุกในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค ด้วยมาตรการ 3 เก็บ คือ การเก็บบ้านให้โล่ง ให้อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ ภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และ เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่เก็บน้ำให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมในการกำจัดลูกน้ำยุงในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชน ตลาดสด สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ ศาสนสถาน โรงงาน หรือสถานประกอบการ เป็นต้น 

 

อธิบดีกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกรณีจัดซื้อทรายทีมีฟอส สารเคมีหรืออุปกรณ์พ่นยุง ก็ให้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานของทางราชการ โดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญด้วย

หน้าแรก » การเมือง