วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 12:36 น.

การเมือง

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สรุปผลสอบแล้ว “บิ๊กตู่” ไม่ใช่ จนท.รัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562, 13.04 น.

“ประยุทธ์-พปชร.”รอด ! ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงแล้ว ชี้ “บิ๊กตู่” ไม่ได้มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ สั่งยุติสอบเรื่องร้องเรียน

วันที่ 14 มี.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และคณะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่ นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้ว เห็นว่า

กรณีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า ประเด็นปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า กรณีตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องดังกล่าวมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญอันจะต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 197 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ ตามนัยมาตรา 22 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560

ส่วนกรณีร้องเรียนว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” อันมีลักษณะต้องห้ามมิให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่ นั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณาวินิจฉัย คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 (11) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ปรากฏตามคำวินิจฉัยที่ 5/2543 โดยวินิจฉัยไว้ว่า “...คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ...หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย...”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ย่อมมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ให้ความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้งสี่ประการดังกล่าวข้างต้นด้วย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงสถานะของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ก็ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ โดยบัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่ แสดงให้เห็นได้ว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิได้มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้งสี่ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมิได้มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง

สำหรับกรณีร้องเรียนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 88 และมาตรา 89 หรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มิได้มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ดังที่ได้พิจารณามาแล้วข้างต้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจดังบัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และมิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 88 และมาตรา 89 กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียน

หน้าแรก » การเมือง