วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 17:40 น.

การเมือง

'บิ๊กตู่'ปัดเกี่ยวคดีโฮปเวลล์ย้อนถามรบ.ไหนก่อปัญหา

วันจันทร์ ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562, 15.17 น.

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปฏิเสธการตอบคำถามถึงกรณี ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม 

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแต่เพียงว่า ขอให้รอฟัง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวตนเองไม่เกี่ยวข้อง และขณะนี้กำลังเจรจากันอยู่ พร้อมถามกลับสื่อมวลชนว่าใครทำ แล้วรัฐบาลไหนแก้ รัฐบาลนี้ก็ต้องแก้ ซึ่งการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาที่ผ่านมา คือใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในอดีต หากบอกว่าไม่ต้องแก้ก็ปล่อยแบบนี้ ให้เอกชนฟ้องร้องกันไปเรื่อยๆ จะยอมกันหรือไม่
 

เปิดคำพิพากษาศาล! ค่าโง่'โฮปเวลล์'1.2หมื่นล้าน 

ทั้งนี้คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นยกคำร้อง ที่มีผลให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.51 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

โดยศาลให้เหตุผลว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น ในประเด็นที่ 1.การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่บริษัทโฮปเวลล์จะยื่นคำเสนอข้อพิพาท ได้ทำหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.ระงับข้อพิพาทโดยการเจรจาประนีประนอมยอมความให้เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่ง กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉยไม่พยายามเจรจา บริษัทโฮปเวลล์จึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ และเมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานข้อ 31.1 ซึ่งระบุว่าเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาคู่สัญญาจะต้องมีการประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นก่อน หากภายในระยะเวลา 60 วัน ไม่สามารถประนีประนอมระงับข้อพิพาทได้ ให้นำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างปกระทรวงคมนาคม รฟท.และบริษัทโฮปเวลล์ เป็นสัญญาทางแพ่งชนิดหนึ่งที่มีพ้นบังคับกันได้ และไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสัมปทานจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.193/30 ทั้งนี้ ข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นนับแต่วันที่กระทรวงคมนาคมและรฟท.มีหนังสือบอกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ ลงวันที่ 27 ม.ค.41 ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.47 ยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องได้ การที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.อ้างว่า บริษัทโฮปเวลล์ไม่อาจเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกิน 1 ปี ตาม ม.51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.2542 และคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า ไม่อาจนำระยะเวลาตามบทบัญญํติดังกล่าวมาบังคับใช้กับการใช้สิทธิเรียกร้องที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคนละฉบับนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้แล้ว แม้คำชี้ขาดได้อ้างเหตุทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาและอายุความแตกต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อเป็นคำชี้ขาดที่ให้ผลว่า ข้อพิพาทที่เสนอเป็นข้อพิพาทที่รับไว้พิจารณาได้ อันเป็นผลตรงกับที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นคำชี้ขาดในประเด็นนี้จึงไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกเช่นกัน

ประเด็นที่ 3 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่มีการกำหนดประเด็นว่า สัญญาสัมปทานเลิกกันไปโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ และกระทรวงคมนาคม รฟท.และบริษัทโฮปเวลล์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.391 หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า คดีนี้สัญญาพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน การแจ้งยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงยังไม่มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเป็นอันเลิกกันในทันที อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้มีหนังสือแจ้งมติ ครม.ที่บอกเลิกสัญญาต่อบริษัทโฮปเวลล์ และได้มีหนังสือแจ้งยืนยันเจตนาที่ไม่ประสงค์จะมีข้อผูกพันตามสัญญาอีกต่อไป ถือเป็นกรณีที่ได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาอย่างชัดแจ้งแล้ว และต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ได้ยินยอมย้ายคนและเครื่องมือออกจากพื้นที่สัมปทานและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอีก อันเป็นการแสดงออกถึงการตกลงให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน เมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม เทียบเคียงหลักการให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.391 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญาคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่เดิมจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใด

สำหรับคำชี้ขาดในส่วนที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้องดำเนินการให้บริษัทโฮปเวลล์กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมาย ข้อสัญญาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่างๆดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวดัวยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏเหตุให้อำนาจศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกคำร้องและให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยให้ กระทรวงคมนาคมและรฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180วัน นับแต่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 16,535,504 บาทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์

 

หน้าแรก » การเมือง