วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 20:16 น.

การเมือง

รูดม่าน..ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี-สนามบิน “เป็นธรรมแข่งขัน–ชาติได้ประโยชน์สูงสุด”

วันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 13.50 น.

รูดม่าน..ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี-สนามบิน “เป็นธรรมแข่งขัน–ชาติได้ประโยชน์สูงสุด”

ศึกชิงสัมปทาน “ดิวตี้ฟรีสนามบิน” ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้ง 3 สัญญาสัมปทาน คือ 1.โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สนามบินนสุวรรณภูมิ (ทสภ.) 2.โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สนามบิน 3 แห่ง ภูเก็ต เชียงใหม่ และ หาดใหญ่ และ 3.โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) ผลสรุป “กลุ่มคิงเพาเวอร์” กวาดเรียบวุธ ทั้ง 3 สัญญาสัมปทาน โดย “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตั้งโต๊ะแถลงข่าวระบุว่า ที่ประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา “เห็นชอบ” ผลการประมูล มีอายุสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 28 กันยายน 2563 - 31 มีนาคม 2574  ประสา “ตาพญา” เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด ขอยกเครดิตให้ ทอท. จัดกระบวนการประมูลอย่างเข้มข้น โปร่งใส เป็นธรรมการแข่งขัน และประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด

“ตาพญา” เปิดดูผลคะแนนการประมูล สัญญาแรก สัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรากฏว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับ 1 ที่ 94.30 คะแนน  เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 15,419,000,000 บาท อันดับ 2 คือ กิจการร่วมค้า การบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ร่วมกับ บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด และ บริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ได้ 83.10 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 8,516,653,333 บาท และ อันดับ 3 คือ กิจการร่วมค้ารอยัลออคิด ประกอบด้วย บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UKLIMITED ได้ 78.85 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 7,255,000,000 บาท บรรทัดนี้ “ตาพญา” เห็นข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐแล้ว...ได้แค่ซู้ดปาก...ไม่พูดมาก..เจ็บคอ

ส่วนศึกชิงสัมปทาน โครงการท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ที่มีเอกชนมายื่นประมูล 3 ราย จาก 4 รายที่ซื้อซองข้อเสนอ ผลสรุป “บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด” ก็เข้าวินชนะไปอีกสัญญา ด้วยคะแนนสูงสุด 96.10 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,331,000,000 บาท ส่วนอันดับ 2 เป็นของ บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ได้ 86.72 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,012,000,000 บาท และอันดับ 3 กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานภูมิภาค) ได้ 84.74 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,108,635,888 บาท มีกำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 เช่นกัน  “ตาพญา” ซู้ดปากอีกสัญญา รัฐได้รับผลประโยชน์กระเป๋าตุง

ขณะที่ ศึกชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ ผลก็ปรากฎว่าผู้ชนะประมูลก็ยังเป็นของ บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้คะแนนสูงสุด 95.20 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 5,798,000,000 บาท ชนะเหนือคู่แข่งขันอย่าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ได้ 80.81 คะแนน เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 3,003,000,000 บาท กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 เช่นกัน “ตาพญา” เชื่อว่าสังคมไม่มีข้อกังขาโดยดุษฎี

“ตาพญา” ฟังเสียงจากปากของ “วิชัย บุญยู้” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผล ยันยันกระบวนการประมูลทุกขั้นตอน โปร่งใส เป็นธรรมทุกฝ่าย โดย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้ชนะทั้ง 3 สัญญาสัมปทาน ได้คะแนนสูงสุด เสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย เป็นไปตามเป้าหมายของ ทอท.ที่ต้องการได้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์จริงๆ ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้สินค้าแบรนด์เนม สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมไม่ใช่แค่ ทอท.ได้รับอยู่ไม่ต่ำกว่าในปัจจุบัน แต่ “ตาพญา” สรุปรวม 3 สัญญาสัมปทานที่ “กลุ่มคิงเพาเวอร์” ชนะการประมูล รวมตัวเลขที่ต้องจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ ทอท. รวม 3 สัญญา สูงถึงปีละ 23,548 ล้านบาท นับว่ารัฐได้ผลตอบแทนมหาศาลเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ “กลุ่มคิงเพาเวอร์” ชนะการประมูลไปทั้ง 3 สัญญา แต่ “ตาพญา” ก็เชื่อว่า ก่อนการแข่งขันทุกฝ่ายต่างได้มีการเตรียมพร้อมกันมาอย่างเต็มที่ เพราะเป็นธุรกิจดิวตี้ฟรีมีมูลค่ามหาศาล และมีอายุสัมปทานยาวนานกว่า 10 ปี ยิ่งเห็นรายชื่อผู้ซื้อซองประมูลเข้าแข่งขันประมูลแล้ว ยิ่งเชื่อว่าเป็นการแข่งขันที่สนุกตื่นเต้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ 4 กลุ่มล้วนแต่เป็น กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่า “กลุ่มคิงเพาเวอร์” เจ้าของสัมปทานเดิม อาศัยมีประสบการณ์ธุรกิจดิวตี้ฟรีมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นบิดา "เจ้าสัววิชัย" วิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ก่อตั้ง “คิงเพาเวอร์” สืบต่อมาถึงทายาท “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” เข้ามารับหน้าที่สานต่อ อาศัยในฐานะเจ้าของพื้นที่เก่า มีความเชี่ยวชาญธุรกิจดิวตี้ฟรีตั้งแต่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เรียกได้ว่ารู้ทุกตารางนิ้วทุกซอกทุกมุมของสนามบินสุวรรณภูมิ ย่อมรู้เรื่องข้อมูลสถิติตัวเลขต่างๆ และพฤติกรรมผู้โดยสารตลอดจนยอดขายอย่างแม่นยำ ...000... ขณะที่คู่แข่งขันอย่าง บริษัทการบินกรุงเทพ ของ นพ.ปราเสริฐปราสาททองโอสถ ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน มีธุรกิจโรงพยาบาลหลายแห่ง เป็นเจ้าของบางกอกแอร์เวย์ส มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจการบินที่ยาวนานมากว่า 50 ปี แถมยังได้พันธมิตรอันแข็งแกร่งอย่าง “ล็อตเต้” ที่วงการดิวตี้ฟรีต่างยอมรับมีประสบการณ์สูง มีความสามารถบริหารจัดการธุรกิจดิวตี้ฟรีไปในทั่วโลก ยิ่งมีความมั่นใจไม่เป็นสองรองใครแน่ ...000... เช่นเดียวกับ “กลุ่มรอยัลออคิด” ที่ได้พันธมิตรอย่าง WDFG UK LIMITED เจ้าของดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของโลกมาร่วมมือ ยิ่งมีความมั่นใจ ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าใคร พร้อมที่จะทุ่มไม่อั้น เพื่อชิงเค้กสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินมาครองให้ได้...000... หรือแม้แต่ “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่แม้จะถอดใจไม่ร่วมชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบิน แต่การเข้าร่วมชิงสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ แม้ต้องพ่ายแพ้ให้กับ “กลุ่มคิงเพาเวอร์” แต่ถือว่าเป็นการลงสนาม “สู้จริง-แข่งจริง” พ่ายแพ้ตามกฎ-กติกาการแข่งขัน

ขณะที่ผู้เข้าแข่งขันชิงพื้นที่สัมปทานล้วนต่างมีชื่อเสียงระดับโลก ขณะเดียวกัน “ตาพญา” ก็เห็นว่า ทอท.ได้จัดให้มีการประมูลได้ตามมาตรฐานระดับสากลเช่นกัน เข้มข้น โปร่งใส เป็นธรรมกับผู้ยื่นซองประมูลทุกฝ่าย ไม่ว่า ”รายใหม่” หรือ “รายเก่า” และ “เปิดกว้าง” ตามหลักธรรมาภิบาล ยืนอยู่บนหลักการผลประโยชน์ของประเทศชาติที่จะได้รับสูงสุด โดยกำหนดคะแนนในสูตรสมการ 15 : 40 : 25 : 20 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็นคะแนนด้านเทคนิค 80 คะแนน และคะแนนด้านราคา 20 คะแนน ประสา “ตาพญา” เห็นด้วยกับ ทอท.ที่ต้องการได้ผู้มีประสบการณ์การทำธุรกิจดิวตี้ฟรี แผนธุรกิจ-แผนการตลาดต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐได้จริง แฟร์กับ “ผู้แข่งขัน” และ “ยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ” อย่างแท้จริง

ประสา “ตาพญา” ดูเนื้อหาลายละเอียด TOR แล้ว ยอมรับ ทอท.ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการประมูล “ดิวตี้ฟรี-สนามบิน” อย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญของ “แผนการตลาด” อยู่ที่ 40 คะแนน และ “แผนการบริหารธุรกิจ” ที่ 25 คะแนน เป็น “หัวใจ” สูงสุดที่ต้องสอดคล้องกัน ยืนอยู่บนความเป็นจริง ทอท.ให้ความสำคัญมากกว่าการแข่งขันด้านตัวเงินที่มี 20 คะแนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “ซ้ำรอย” เหมือนแข่งขันประมูลทีวีดิจิทัล ในกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้าน “ให้ผลตอบแทนตัวเงิน” จน “ล้มเหลว” นำไปสู่การขอแก้ไขสัญญาภายหลัง การพักชำระค่าสัมปทาน การขอคืนสัญญา การเยียวยา การทิ้งสัญญา เป็นบทเรียน ความล้มเหลว ของการจัดประมูลสัมปทานของรัฐ ที่ขาดความละเอียด-รอบคอบอย่างสิ้นเชิง

บรรทัดสุดท้าย “ตาพญา” ขอยกเครดิตให้กับ ทอท. ในการกำหนด TOR ประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม มุ่งเน้นไปที่แผนธุรกิจ แผนการตลาด แผนการเงิน สามารถอธิบายสอดคล้องบนความเป็นไปได้ “ทำได้จริง” สามารถกำหนดค่าตอบแทนให้กับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าหมาย เป็นธรรมทั้งต่อผู้เข้าแข่งขันประมูล เป็นธรรมต่อประเทศชาติที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด “ตาพญา” เห็นว่า TOR ดิวตี้ฟรี” ครั้งนี้น่าจะเป็น “ต้นแบบ” ให้หน่วยงานรัฐอื่นที่จะมีการประมูลโครงการสูงๆรออยู่ ควรนำ TOR ของ ทอท.ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานตัวเอง นอกจากเป็นธรรมต่อผู้เข้าแข่งขันแล้ว ประเทศชาติก็ได้รับผลประโยชน์สูงสุดด้วยเช่นกัน

 

ตาพญา

หน้าแรก » การเมือง