วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 08:08 น.

การเมือง

แย่งน้ำกันใช้แล้วที่อ่างทอง! 'ธรรมนัส'ลงพื้นที่รพ.สุรินทร์ขาดแคลนน้ำคลี่คลายแล้ว

วันพุธ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 16.25 น.

แย่งน้ำกันใช้แล้ว! ส.ส.ภูมิใจไทยร้องในสภาฯ 'ธรรมนัส'ลงพื้นที่ยัน รพ.สุรินทร์ขาดแคลนน้ำคลี่คลายแล้ว ขณะที่ 'บิ๊กป้อม' ถกติดตามแก้ภัยแล้ง เคาะงบบูรณาการน้ำปี 2563 เพิ่มเป็น 1.8 แสนล้าน


วันที่ 14 ส.ค.2562 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาในเขตจังหวัดอ่างทองในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับคำร้องเรียนจากพี่น้องเกษตรกร ที่อยู่ในเขตของโครงชลประทานชัณสูตร ตั้งแต่ อ.แสวงหา อ.โพธิ์ทอง อ.สามโก้ และ อ.วิเศษชัยชาญ ถึงปัญหาเรื่องของภัยแล้ง เป็นปัญหาที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้เครื่องวิดน้ำเข้านา และได้ทราบข่าวจากโครงการชัณสูตรโดยปกติแล้ว ปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการของโครการชัณสูตร จำเป็นต้องมีน้ำอย่างน้อย 50-55 คิวต่อวินาที แต่ปัจจุบันมีน้ำให้บริหารอยู่เพียงแค่ 20 คิว นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงมีการแย่งน้ำกันของเกษตรกร ในหลายอำเภอ 

จึงขอกราบเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน ได้กรุณาหาน้ำต้นทุนเพิ่มที่โครงการชัณสูตร เพื่อลดปัญหาของการแย่งน้ำทำนาของเกษตรกรในจังหวัดอ่างทอง 

และหลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศนโยบายประกันรายได้ พี่น้องเกษตรกรก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยกัน ซึ่งในปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรที่เริ่มทำนาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน อีกไม่กีสัปดาห์ก็เริ่มเกี่ยวข้าวแล้ว เฉพาะที่จังหวัดอ่างทองจะมีปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาด ในช่วงเดือน สิงหาคม กันยายน และตุลาคม 3 เดือนนี้จะมีข้าวที่ออกสู่ตลาดถึง 1แสน5หมื่นตัน โดยประมาณ พี่น้องเกษตรกรรอคอยว่าในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลชุดเก่าและรัฐบาลชุดใหม่ที่มีโครงการประกันรายได้ จะมีแนวมางในการช่วยเหลือ และแนวทางในการปฎิบัติให้กับพี่น้องเกษตกรอย่างไร ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงพาณิช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 'ธรรมนัส'ลงพื้นที่รพ.สุรินทร์ขาดแคลนน้ำคลี่คลายแล้ว

ร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงตรวจสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งส่งผลกระทบ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตเมืองสุรินทร์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสุรินทร์ ว่า  ตนมาวันนี้ตามที่ได้มอบหมาย จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กำชับให้มาดูแลแก้ปัญหาเร่งด่วนอย่างเอาจริงเอาจัง 

โดยเรื่องด่วนแรก  คือการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของโรงพยาบาลสุรินทร์  ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตนได้ประสานกับแม่ทัพภาคที่ 2 และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยมีผู้อำนวยการสำนักพัฒนา  5 รับผิดชอบขุดเจาะบ่อบาดาล 8 บ่อรอบพื้นที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งจนถึงเวเลา 06.00 น. หรือ  6 โมงเช้าที่ผ่านมาสามารถขุดเจาะได้ทั้งหมด 8 บ่อ พร้อมติดตั้งเครื่องกรองน้ำเสร็จเรียบร้อย ทางโรงพยาบาลสุรินทร์ สามารถเปิดใช้น้ำได้แล้ว ถือว่าปัญหาแก้วิฤติขาดแคลนน้ำของโรงพบายาลสุรินทร์จบแล้ว

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ 2 คือ ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ในอำเภอเมือง จ.สุรินทร์  ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตรวจเยี่ยมบริเวณสถานที่สูบน้ำในเหมืองของเอกชนในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพบว่า ขณะนี้สูบน้ำหมดไป 1 เหมือง และกำลังสูบเหมืองที่ 2 ซึ่งจะเพียงพอใช้ได้ 3 เดือน และยังเหลือน้ำในเหมืองอีก 8 เหมือง  จึงคิดว่า น่าจะเพียงพอแน่นอน เรื่องปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ของอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์น่าจะหมดไป  

กรณีที่ยังพบว่า คุณภาพน้ำประปาในเขตเมือง ยังมีปัญหาขุ่นต้องแก้ไข ซึ่งได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปแก้ไขปัญหาน้ำให้มีข้อยุติภายใน 2-3 วันนี้

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ทางหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพภาคที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ และอีกหลายหน่วยงาน จะร่วมกันแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง ที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการ คือการทำฝนหลวง  ซึ่งฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนนี้ ในจังหวัดสุรินทร์จนถึงขณะนี้ก็มาจากฝนหลวง ซึ่งพบว่าสามารถเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำขนาดเล็ก และมีน้ำในไร่นาของเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าทำฝนหลวงได้ผล และจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดประสานกับ หน่วยบัญชการทหารพัฒนา กระทรวงทรัพยากรฯและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะมีการขุดบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นสำหรับอุปโภคบริโภค เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้หากไม่เพียงพอดังนั้น  จากนี้ ปัญหขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จังหวัดสุรินทร์ น่าจะจบลงเช่นกัน  ซึ่งตนจะติดตามผลอย่างต่อเนื่อง 
ร้อยเอก ดร.ธรรมนัส ยังกล่าวถึงกำหนดการลงพื้นจังหวัดสุรินทร์  ของนายกรัฐมนตรี วันที่ 19 สิงหาคมนี้ว่า  เบิ้องต้นยังเป็นตามกำหนดการเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาพร้อมกับคณะรัฐมนตรีด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงคงมีการแจ้งอีกครั้ง  
ด้านนายแพทย์ ประวีณ ตัณฑะประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สุรินทร์  กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาล และภาครัฐทุกภาคส่วน ตลอดจนสื่อมวลชน ที่มาช่วยเหลือทำให้โรงพยาบาลสามารถพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งทางคณะผู้บริหารโรงพยาลสุรินทร์ ยืนยันจะบริหารจัดการน้ำให้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยเกษตรกรและสหกรณ์ได้ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง ,พบปะประชาชน และตรวจเยี่ยมการเปิดใช้น้ำบาดาล 8 บ่อของโรงพยาบาลสุรินทร์แล้วได้เดินทางไปขึ้นเครื่องบินทหารที่สนามบินสุรินทร์ภักดี เพื่อไปสนามบินจังหวัดบุรีรัมย์ และเดินทางกลับกรุงเทพมหานครทันที เพื่อให้ทันเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภาใหม่ เกียกกายในช่วงบ่ายวันนี้

'บิ๊กป้อม'นั่งหัวโต๊ะติดตามแก้ภัยแล้ง เคาะงบบูรณาการน้ำปี 2563 เพิ่มเป็น 1.8 แสนล้าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี 2563 โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ติดตามผลการดำเนินการและรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป          

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศปริมาณน้ำในภาพรวมของประเทศไทยปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ 1 พ.ค. - 11 ส.ค.นี้ มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนจากนี้ เดือน ส.ค. ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก เดือน ก.ย.ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ และเดือน ต.ค.ปริมาณฝนในทุกภาค ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
          
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะที่การเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนวิภาในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง และตะวันออกมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ที่ประชุมวางแผนการปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได้ เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ต้นฤดูแล้งในปี 2562/2563 จำนวน 348 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อการประปานครหลวงจำนวน 15 ล้านลูกบาศก์เมตร
          
เลขาธิการ สนทช. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการพิจารณาวงเงินงบประมาณบูรณาการด้านน้ำวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานต่างๆ รวม 9 หน่วยงาน เสนอเพิ่มเติมจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่งบประมาณบูรณการด้านน้ำได้รับจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาประมาณ 1.6 แสนกว่าล้านบาท แต่หลังจากนี้งบประมาณดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาโดยสำนักงบประมาณอีกครั้ง และอาจถูกปรับลดไปประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่เสนอไป คาดว่างบประมาณบูรณาการน้ำที่จะได้รับการสนับสนุนจริงอยู่ที่ประมาณ 6 - 7 หมื่นล้านบาท 

 

 

หน้าแรก » การเมือง