วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 14:49 น.

การเมือง

'ประภัตร'ลุยมอบถุงยังชีพ-เสบียงอาหารสัตว์อีสาน 3 จว.

วันเสาร์ ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562, 13.56 น.

วันที่ 21 ก.ย.2562 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว นายขจร  เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ โดยรับฟังรายงานสถานการณ์ภาพรวมของ จ.ศรีษะเกษ  จากนายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีษะเกษ และรายงานสรุปสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย จากนายสุพร ธีรโรจน์ชาลี นายอำเภอยางชุมน้อย พร้อมกันนี้ได้กล่าวพบปะและให้กำลังใจกับผู้ประสบภัย และมอบสิ่งของช่วยเหลือจำนวน 1,000 ชุด ณ หอประชุมเทศบาลตำบลยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ 

 

นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทนเดินทางมาให้กำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งภารกิจในครั้งนี้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเกษตรกรใน 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ยโสธร และร้อยเอ็ด โดยนายกฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้หลังน้ำลดให้เร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 120 วัน ดังนั้นกกระทรวงเกษตรฯ จึงได้เตรียมเสนอ ครม. ใน  3 โครงการเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้หลังน้ำลดพร้อมทั้งมีการประกันรายได้และมีตลาดรองรับที่แน่นอน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย คือ 1. ปลูกถั่วเขียว ใช้เวลาเพาะปลูก 70 วัน แจกเมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ ประกันราคาที่ 30 บาท 2. ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แจกเมล็ดพันธุ์ 3.5 กก./ไร่  คนละไม่เกิน 10 ไร่  ประกันราคาที่ 8 บาท และ 3. โครงการโคขุนสร้างรายได้ ส่งออกไปจีน เป้าหมาย 1 ล้านตัว โดยกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนเงินกู้รายละ 120,000 บาท ซื้อลูกโค 5 ตัวๆ ละไม่เกิน 24,000 บาท และมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 250 กก. ประกันวัวตัวละ 100 บาท/เดือน กำหนดระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน โดยเลี้ยงในคอกของตนเอง รวมถึงสนับสนุนเครื่องผสมอาหารตามสูตรของกรมปศุสัตว์ ให้กลุ่มละ 500-1,000 ตัว อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะวางระบบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ 1 บ่อ ใช้ประโยชน์ได้ถึง 700 – 1,000 ไร่ และรัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ยให้ 3% เกษตรกรออกเอง 1% และมีประกันความเสียหายหากโคเสียชีวิต

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรณีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายทั้งหมด รายละไม่เกิน 30 ไร่ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท สำหรับกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย โค รายละไม่เกิน 2 ตัว ตัวละไม่เกิน 6,000-20,000 บาท สุกร รายละไม่เกิน 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,300-3,000 บาท และแพะ รายละไม่เกิน 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,000-2,000 บาท เป็นต้น โดยขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังเร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อให้ได้จำนวนที่ชัดเจน จากนั้นจึงเยียวยาตามตามอัตราที่กำหนด โดยเร่งดำเนินการภายใน 60 วัน หลังน้ำลดและจะโอนเงินให้กับเกษตรกร ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงทันที สำหรับสำหรับความเสียหายในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ รวม 11 อำเภอ 67 ตำบล 483 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อนกว่า 20,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 80,000 ไร่

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจพื้นที่จุดขุดเจาะเปิดถนนเพื่อเร่งระบายน้ำบริเวณทางหลวง 2068 บึงบอน-ยางชุมน้อย หมู่ที่ 1 ต.บึงบอน ก่อนจะเดินทางไปยัง จุดบริการประชาชน บ้านหัวสะพาน ต.โนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อพบปะและให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือ จำนวน 1,000 ชุด รวมทั้งมอบหญ้าแห้งและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบภัยน้ำท่วม ก่อนเดินทางไปตรวจฝายน้ำล้นห้วยทา บ้านพะแนง หมู่ที่ 1 ตำ.จาน อ.กันทรารมย์ และเดินทางไปยังบ้านทรายงาม หมู่ที่ 5 ต.กุดกุง อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย  พร้อมมอบถุงยังชีพ เสบียงอาหารสัตว์ หญ้าแห้งอัดฟ่อน และถุงยังชีพสัตว์ ให้กับเกษตรกร และออกเดินทางไปยัง จ.ร้อยเอ็ด ต่อไป

หน้าแรก » การเมือง