วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 02:06 น.

การเมือง

"อนุทิน"ปลื้ม! ปิดจ็อบเซ็นสัญญารถไฟ 3 สนามบินสำเร็จ

วันพฤหัสบดี ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 15.01 น.

"อนุทิน"ปลื้ม! ปิดจ็อบเซ็นสัญญารถไฟ 3 สนามบินสำเร็จ ช่วยรักษาผลประโยชน์รัฐ ก่อนปล่อยมุก สบายใจไม่ต้องควักค่าทุบโฮปเวลล์เอง ขณะที่ "รฟท.-กลุ่มซีพี" พร้อมพันธมิตรลงนามสัญญาร่วมลงทุนเรียบร้อย  

 

วันที่ 24 ต.ค.2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลงานด้านคมนาคม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ระบุว่า วันนี้ (24 ต.ค.62) จะมีการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงการสำคัญและมีผลต่ออนาคตการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โครงการที่จะนำการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวนมาก และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ประเทศไทย ก้าวไปข้างหน้าได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อครั้งโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ผมมีความสุขที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งให้เกิดการลงนามในสัญญาวันนี้ได้ 1.สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั่วโลก ที่เฝ้ารอดูการการเกิดขึ้นของโครงการนี้ 2.รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ได้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท 3.จะมีการลงทุนและการจ้างงานในโครงการนี้ มูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท และ การพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการจัดทำโครงการ โรงงานต่างๆ อีกมาก ซึ่งคาดว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ เป็นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประชาชน และประเทศไทย 4.โครงการนี้ จะเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ถ้าจำกันได้ ผมเคยพูดว่าผมจะสนับสนุนให้มีการลงนามในสัญญาโครงการนี้ให้ได้ โดยให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด หากผู้ที่ชนะการประมูล คือ CPH มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน อย่างไร ผมจะพยายามแก้ไข และ เคลียร์ให้ได้มากที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งผมได้ทำตามที่พูดไว้แล้ว คือ จะมีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ ในวันนี้แล้ว และมั่นใจว่าผมได้รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ไว้ สำคัญที่สุด ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

ผมขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มโครงการนี้ และผู้ปฏิบัติทุกท่านที่ช่วยกันคิดหาแนวทางที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น และ ขอบคุณ CPH ที่มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเรา 

สุดท้าย ที่สบายใจ คือ การลงนามสัญญาวันนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินส่วนตัวทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ เพราะคู่สัญญาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ CPH ตกลงกันได้แล้ว ขอบคุณที่สุดคือ ประชาชน และ สื่อมวลชน ที่ช่วยกันตรวจสอบ และสนับสนุน การทำงานของรัฐบาล 

รฟท.-กลุ่มซีพีพร้อมพันธมิตรลงนามสัญญาร่วมลงทุนเรียบร้อย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสาม สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด 
          
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฎว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
          
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร  (กม.) โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
          
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ 

หน้าแรก » การเมือง