วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 08:08 น.

การเมือง

"เทพไท"ขวาง"ครม.-ส.ว." อย่าจุ้นนั่ง"กมธ.แก้รธน." ต้องกระจายให้พรรคร่วม

วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 15.26 น.

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562  นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การที่วิปทั้ง2ฝ่าย กำหนดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ มีจำนวน49คน แบ่งเป็นสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล18คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน19คน และสัดส่วน ครม.12คนนั้น จากกระแสข่าวที่ระบุว่า จะมีการจัดสรรโควต้ากรรมาธิการสัดส่วน ครม.ให้กับ ส.ว.เข้ามาร่วมด้วยนั้น ส่วนตัวเห็นว่าการเสนอญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติมาตั้งแต่เริ่มต้น และ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ยังออกมายืนยันว่า เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเมื่อสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมา ก็ควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้ด้วย          

1.คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ไม่ควรมีสัดส่วนของ ครม. 2.ถ้ามีสัดส่วนของ ครม.ก็ควรจะแบ่งปัน หรือกระจายโควต้าให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคทั้งหมด 3.ถ้าจะแบ่ง กมธ. สัดส่วนของ ครม.12คน ให้แก่บุคคลใน ครม.6คน และบุคคลภายนอก6คน ก็ไม่ควรนำ ส.ว.หรือบุคคลที่เคยเป็น กรธ.มาร่วมด้วย

 

นายเทพไทกล่าวว่าตนเห็นว่า การเปิดโอกาสให้ ส.ว.หรือ กรธ.เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของ กมธ.ชุดนี้อย่างแน่นอน เพราะกลุ่มคนทั้ง2ส่วนนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างชัดเจนมาก ถ้าหากจะนำคนที่มีจุดยืนต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญแบบสุดขั้วมาร่วมใน กมธ.ชุดนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับ เอาจรเข้มาขวางคลอง
          
"จึงขอเสนอว่า ถ้าอยากจะให้ ส.ว.มีส่วนร่วม หรือต้องการรับฟังความเห็นจาก ส.ว.ด้วย ก็ควรจะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา หรือ ให้ ส.ว.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในส่วนของวุฒิสภาขึ้นมาต่างหากอีกชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญคู่ขนานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร น่าจะเหมาะสมที่สุด"

"เทวัญ"เตรียมคุย"วิษณุ"เฟ้นกมธ.แก้รธน.

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าสัดส่วนการตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาปลายเดือนนี้ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอรายชื่อสัดส่วนของรัฐบาลไปแล้ว 6 คน แต่มีบางส่วนปฏิเสธไม่ตอบรับจึงต้องพิจารณาใหม่ โดยทั้ง 6 คนในสัดส่วนรัฐบาลเป็นคนนอกทั้งหมด แต่อีก 6 คนที่เหลือ วิปรัฐบาล ขอไปจัดสรรเอง ซึ่งเตรียมที่จะหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการได้คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดี
          
ส่วนสัดส่วนของ ส.ว. นั้น มองว่า ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภาที่จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เพราะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทั้งนี้ ครม. ได้สัดส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการทั้งหมด 12 คน ฝ่ายค้าน 19 คนและฝ่ายรัฐบาล 18 คนรวม 49 คน

"วิษณุ"แจงรายชื่อ "ปธ.กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ"มาจาก"ส.ส.-พรรคการเมือง" ชงชื่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีบุคคลนอกที่ไม่ใช่คนหน้าเดิม เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ อย่าไปเห็นอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เรื่องนี้ควรให้คนที่อยู่ในวงการมาช่วยกันให้ความเห็นดีกว่า อย่างส.ส.หรือพรรคการเมืองต่างๆ ควรไปถามเขา
          
เมื่อถามว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ความชัดเจนของคนที่จะมาเป็นประธานกมธ.ฯ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ อาจจะชัดเจนแล้วก็ได้ ซึ่งตำแหน่งประธานกมธ.จะเกิดขึ้นทีหลัง  โดยกมธ.จะเป็นคนเลือกจากคนที่มาเป็นกมธ.เพื่อให้มาเป็นปธ.กมธ.
          
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการส่งรายชื่อกมธ.ในสัดส่วนของรัฐบาล ไปยังวิปรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลส่งไปนานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะตนได้ยินว่ามีการทาบทามแล้วบางคนไม่รับ เพราะไปเอ่ยถึงโดยที่เขาไม่รู้มาก่อน ทั้งนี้เมื่อได้รายชื่อในส่วนรัฐบาลทั้งหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องส่งมาให้ตนและไม่ควรทำ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการมาหารือกับตนตามประสาเพื่อนฝูงเพื่อขอคำแนะนำในฐานะที่เป็นบุคคลกว้างขวางว่าควรจะเป็นใครบ้างเท่านั้น

"พุทธิพงษ์"รับเคาะชื่อปธ.กมธ.แก้ รธน.ต้องคุยกัน
 
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุถึงความคืบหน้าของรายชื่อประธานและคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ว่ากำลังพิจารณาอยู่ ตอนนี้มีหลายคนที่เหมาะสมทั้งคนนอกและคนในพรรคคนในพรรคอย่างเช่น นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 1 มองว่าคุณสมบัติของประธาน กมธ. ต้องมีความรู้ความสามารถในด้านนี้ มีประสบการณ์การทำงานกับรัฐธรรมนูญในหลายๆฉบับ เริ่มพูดคุยเรื่องนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการตัดสินใจ
          
เพราะประธานควรเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมฉบับนี้มีข้อดีมาก และเพิ่งใช้งานไม่นาน นอกจากนี้ยัง ผ่านประชามติของประชาชนมา การศึกษาเพื่อแก้ไขต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะทำในประเด็นใด ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม เชื่อว่าสุดท้ายชื่อของประธาน กมธ.ต้องผ่านการรับทราบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
          
ส่วนจะต้องให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ฟันธง ชื่อประธาน กมธ.หรือไม่ว่าควรเป็นใคร นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า พล.อ.ประวิตร ถือว่า เป็นผู้ใหญ่ที่พูดคุยกับทุกพรรคได้อยู่แล้ว และขณะนี้ก็เริ่มคุยกันมาตลอด และขณะที่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ ชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นประธาน กมธ.นั้น ใครจะเสนอก็ไม่มีปัญหาแต่ต้องผ่านการหารือจากทุกฝ่ายเชื่อว่าที่สุดแล้วก็ต้องพูดคุยกัน
          
นายพุทธิพงษ์ ยังกล่าวยืนยันว่า พรรคขั้วรัฐบาลไม่มีรอยร้าว และความขัดแย้งใดๆ เพราะ ได้พูดคุยกับ แกนนำพรรคร่วมอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ตลอด
          
ส่วนการนัดพูดคุยระหว่างกับพรรคร่วมรัฐบาล กับ นายกรัฐมนตรี นั้น นายพุทธิพงษ์ ยอมรับว่า ตนเองเป็นหนึ่งในแม่งานที่ช่วยดูแล มีการเชิญทุกพรรคร่วมรัฐบาลเข้าพูดคุยรวมถึงพรรคเล็กด้วย ตอนนี้พยายามจัดสรรเวลาให้ได้ช่วงเดือนนี้ แต่แกนนำหลายคนติดภารกิจต่างประเทศ จึงอาจจะจัดขึ้นไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน
          
 

 

 


 

หน้าแรก » การเมือง