วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 06:28 น.

การเมือง

"ทวี"ชี้ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน คือ การโกงปชช.ที่ถูกจับได้

วันศุกร์ ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563, 10.04 น.

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2563 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Tawee Sodsong - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า...

ส.ส.การเสียบบัตรแทนกัน คือการโกงประชาชนที่ถูกจับได้

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) ได้เผยผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอรัปชั่นในภาครัฐของหลายประเทศทั่วโลกประจำปี 2562 (CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2019) โดยสำหรับประเทศไทยพบอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ได้ 36 คะแนนจากเต็ม 100 ถือว่าเป็นความล้มเหลวด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐในการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีตลอด 5 ปีเศษติดต่อกันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้
          
ภาพลักษณ์การคอรัปชั่นของฝ่ายรัฐบาล ยิ่งฉาวโฉ่ เมื่อมี ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล คือจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมารับสารภาพว่าได้มีการเสียบบัตรแทนกันขึ้นในการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิด และขาดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง เพราะการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ.2556 ว่า
          
เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย
          
ประสบการณ์ส่วนตัวเห็นว่า ในเรื่อง “หน้าที่ความรับผิดชอบ” นั้นมีความสำคัญยิ่งในทุกอาชีพ หรือในความเป็นมนุษย์ หากมีผู้การละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่รับผิดชอบต้องถือว่าเป็นการโกงและคอรัปชั่นด้วย ซึ่งการโกงและคอรัปชั่นนั้น มรว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยนิยามไว้สั้นๆ ว่า “การโกงคือคอรัปชั่นที่จับได้ ส่วนคอรัปชั่นคือการโกงที่จับไม่ได้ ” ซึ่งผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบแล้วละเลยไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบก็คือการรอวันเวลาแห่งความพินาศติดตามมา นั้นเอง

"อนุสรณ์"ชี้รัฐบาลต้องมีคำตอบทำไมอันดับต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นของไทยจึงตกต่ำลง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ( Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2019 ทั้งหมด 180 ประเทศ โดยประเทศไทย ตกลงไปอยู่อันดับ 101 จนถูกประเทศเพื่อนบ้านแซง ว่า อันดับที่ออกมาสอดรับกับผลงานการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยู่มา 5-6 ปี ไม่สามารถไปโยนบาปให้ใคร หรือโทษรัฐบาลไหนได้แล้ว รัฐบาลต้องมีคำตอบว่า เหตุใดอันดับในเรื่องความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยจึงตกต่ำลง เหตุผลหนึ่งที่มักใช้เป็นข้ออ้างในการทำไอโอเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร คือเข้ามาปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ยิ่งอยู่นาน 

นอกจากอันดับจะไม่ดีขึ้นแล้วยังตกต่ำลงอย่างน่าใจหายจนถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงเกือบหมดภูมิภาค องค์กรตรวจสอบที่มี ถูกตั้งคำถามว่า ทำหน้าที่เป็นตราประทับ สารฟอกขาว หรือเป็นองค์กรตรวจสอบที่เข้มข้นตรงไปตรงมา ผลอันดับและค่าคะแนนที่ออกมา เป็นวิทยาศาสตร์ ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร คนดีชอบแก้ไข รัฐบาลไม่มีทางเลือก นอกจากยอมรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มี ไม่สามารถคาดหวังได้ว่า จะสามารถต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นได้หรือไม่ เพราะ5-6ปี ที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า รัฐบาลนี้ล้มเหลวในเรื่องความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จนถูกตั้งคำถามว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจ คอร์รัปชั่นกระบวนการยุติธรรม กลุ่มผู้สนับสนุนและเครือข่ายในระบอบประยุทธ์ ยังเชื่ออยู่จริงหรือว่า รัฐบาลนี้ไม่มีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น

"การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านมีหลักฐาน ใบเสร็จที่จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น"นายอนุสรณ์ กล่าว

หน้าแรก » การเมือง