วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 21:08 น.

การเมือง

"อนาคตใหม่"เปิดเวทีอ่างทองแก้"รธน." "ธนาธร" กังวลรัฐบาล"ไฮแจ็ค" วาระแก้"รธน."

วันอาทิตย์ ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563, 13.28 น.

"อนาคตใหม่"เปิดเวทีอ่างทอง ระดมความเห็นสู่การแก้ รธน. "ธนาธร" กังวลรัฐบาล "ไฮแจ็ค" วาระการแก้ รธน.-ชี้ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นส่งเสียงพร้อมกัน แก้ รธน.ไม่ได้ "เจิมศักดิ์" อัดที่มา ส.ว.ยังไงก็ต้องแก้ เหตุไม่ยึดโยงกับประชาชน-เสนอโมเดลที่มา ส.ว.กลุ่มอาชีพที่ประชาชนทุกคนได้เลือก-ไร้อำนาจเลือกนายกฯ "พิภพ" เล่าประวัติศาตร์สอง รธน. "แก้ยาก" ที่แก้ได้มาแล้ว แนะยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี "รัฐสภา-ภาคประชาชน" เดินคู่เข้มแข็งแก้ รธน.ได้แน่

เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2563 ที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศาลเจ้าพ่ออ่างทอง อ.เมือง จ.อ่างทอง พรรคอนาคตใหม่สาขาอ่างทอง จัดงานเสวนา “วาระรัฐธรรมนูญ วาระประชาชนคนอ่างทอง(คำ)” โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมวงเสวนาพร้อมกับนายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประขาธิปไตย, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์, นายวัฒนา เมืองสุข ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

"ธนาธร"กังวลรัฐบาล"ไฮแจ็ค"วาระการแก้ รธน.-ชี้ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นส่งเสียงพร้อมกัน

นายธนาธร กล่าวว่า แน่นอนที่สุดตนมีความคิดความอ่านว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำรัฐประหารปี 2557 เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจโดยตัวมันเอง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะที่มา เนื้อหา และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาตั้งแต่ต้น รัฐธรรมนูญนี้มีหลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่อย่างเดียว คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะดึงอำนาจออกจากประชาชน มาให้คนทำรัฐประหาร 2557 อยู่ในอำนาจต่อไปได้

ในความคิดของตนแล้ว เราควรต้องมี สสร.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา สิ่งที่ตนอยากเห็นคือ สสร.ที่อาจจะมีสัก 200 คน โดยที่ระบบการเลือกตั้งทำให้มีความหลากหลาย เมื่อได้เข้าไปแล้วเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญบับใหม่ แล้วทำประชามติให้ประชาชนทั่วประเทศลงคะแนน ตนคิดว่านี่คือกระบวนการที่ควรจะเกิดขึ้น ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ตนเห็นด้วยว่าต้องมีการกระจายอำนาจ บัตรใบเดียวไม่เหมาะสม ส.ว.ต้องได้รับการทบทวน ข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ต้องได้รับการถกเถียง แต่สำหรับตนยังไม่ใช่ตอนนี้ ตอนนี้เราต้องพูดถึงกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน

คำถามคือเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร สิ่งที่ตนกลัวมากที่สุดว่าจะเกิดขึ้นในชั้นกรรมาธิการ คือการ "ไฮแจ็ค"  ประเด็น เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือภาคประชาชน เรามีความมุ่งมั่นและความเชื่อจริงๆว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ฉุดรั้งประเทศไทยเอาไว้ แต่พอการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แทนที่จะกลายเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐบาลส่งคนมายึดที่นั่งในกรรมาธิการด้วย และเห็นได้ชัดเลยว่าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถ สิ่งที่ตนกลัวคือการขโมยวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พวกเรารณรงค์กันมา ที่กลัวที่สุดคือข้อสรุปในครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ในรายมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับระบบกติกาการเลือกตั้ง แล้วเอามาบอกพี่น้องประชาชนว่าเราแก้รัฐธรรมนูญแล้ว

ดังนั้นประชาชนจะต้องคอยเฝ้าระวัง อย่าให้พวกเขาขโมยวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปนระชาชนรณรงค์กันมา สิ่งที่เป็นประเด็นวาระสำคัญจริงๆคือการแก้ไขเรื่องดุลอำนาจ ว่าองค์กรต่างๆทางการเมืองจะสัมพันธ์กันอย่างไร มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน สังคมแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน เรามาตกลงกัน เมื่อหาข้อสรุปร่วมกันได้ แพ้ชนะเราก็เล่นในเกม ไม่ต้องมารัฐประหาร นี่คือเรื่องของดุลอำนาจ แต่ถ้าไม่แก้ไขเรื่องดุลอำนาจเหล่านี้ ไปแก้ไขประเด็นยิบย่อยในรัฐธรรมนูญทั้งหมด นั่นก็คือการขโมยวาระของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญไป

แต่ทั้งนี้ กุญแจที่จะไขล็อคไม่ได้อยู่ที่ประชาชน กุญแจนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจ จะไปสู่ทางนั้นได้มีทางเดียว คือพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคต้องตื่นตัวทางการเมืองและแสดงพลังให้หนักแน่นชัดเจนพร้อมกัน ให้ผู้มีอำนาจได้ยินว่าเราทนไม่ไหวแล้ว ไม่ทนอยู่ในการกดขี่แบบนี้อีกแล้ว

ถ้าไม่มีการลุกขึ้นรณรงค์อย่างแข็งขันของประชาชน ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ แล้วเราจะถูกเหนี่ยวรั้งไม่ให้พัฒนา ไม่ให้ประชาชนมีอำนาจ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นตนขอให้ประชาชนลุกขึ้นมารณรงค์ไปพร้อมๆกัน นั่นคือวิถีทางเดียวที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

"วัฒนา"เชื่อ แก้ รธน.ได้เพราะเป็นปัญหาร่วมทั้งสภา 

โดยในส่วนของนายวัฒนา ระบุว่าตนอาจจะมองไม่เหมือนท่านอื่นๆ ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความรู้สึกเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องแก้ไข เพราะโดยตัวของรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาสามอย่าง อย่างแรกทำอย่างไรให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้ง สอง คือถึงชนะเลือกตั้งแล้วทำอย่างไรให้บริหารไม่ได้ และสุดท้าย จะจัดการกับพวกที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอย่างไร นั่นคือความตั้งใจแรกของคนร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาคนร่างมีการเปลี่ยนใจอยากเป็นรัฐบาลต่อ ก็กลายเป็นติดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง ดังนั้นวันนี้ ตนเปรียบเหมือนว่ามีคนตัดสายเบรครถไว้ดักคนที่จะขึ้นมาขับ แต่คนขึ้นมาขับกลับเป็นคนละคน กลายเป็นว่าต้องมาเจอปัญหาหลายอย่างในการบริหาร เช่นการบอกที่มาของรายได้ในการทำโครงการต่างๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ตัวคนออกแบบรัฐธรรมนุญฉบับนี้มากำลังเจอปัญหานี้เสียเอง

ดังนั้นตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้ ถ้าไม่แก้เราจะผ่านปัญหาต่างๆไปไม่ได้ อย่างแรกคือปัญหาเศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาความเชื่อมั่น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาได้รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ และตราบใดที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่รัฐบาลไม่มีวันมีเสถียรภาพ

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับประเทศไทยในวันนี้คือการแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้อย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง มีสองแบบ คือผู้แทนประชาชนทุกคนในสภาเห็นพ้องต้องกัน ว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาอำนาจคืนให้ประชาชน อีกเรื่องที่แก้ได้แน่ๆคืออำนาจองค์กรอิสระทั้งหลายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตัวที่สามที่แก้ได้ก็คือที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ที่ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เลย เพราะรัธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้เป็นรัฐราชการ

ดังนั้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้แน่ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ควรจะแก้โดยคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการมี สสร.ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การแก้รายมาตรา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งแน่นอน ถ้าทำสำเร็จเราจะสร้างประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีที่มาจากประชาชนและให้ความเห็นชอบโดยประชาชน

"เจิมศักดิ์"อัดที่มา ส.ว.ยังไงก็ต้องแก้ เหตุไม่ยึดโยงกับประชาชน

ด้านนายเจอมศักดิ์ ระบุว่าโดยหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญคือการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของคนในบ้านเมืองว่าจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีหน้าที่ต้องทำอะไร รัฐธรรมนูญที่ดีคือรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญปี 60 ปัจจุบันกำลังเพิ่มอำนาจรัฐลดอำนาจประชาชน หรือลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ถาวรไม่ได้เพราะไปเพิ่มอำนาจรัฐลดอำนาจประชาชน เลยเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีบทเฉพาะกาลวางรองรับกันไว้ มันจะใช้ไปถาวรไม่ได้ ตนคิดว่าถ้ามาดูสิ่งที่ชัดที่สุดที่เราจะเห็น ในบทเฉพาะกาลที่ให้วุฒิสมาชิก 250 คนที่แต่งตั้งโดย คสช.ให้กลับมาเลือกคนของ คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี นี่เป็นภาพสะท้อนที่ชัดที่สุดว่าเป็นการลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจรัฐและผู้มีอำนาจอยู่เดิม

แล้วอีก 5 ปีข้างหน้า ส.ว.ชุดใหม่จะมีอำนาจอย่างไร ส.ว.ชุดใหม่ก็เป็นตัวสะท้อนที่มีปัญหา เพราะเป็นการให้คนสมัครแล้วเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร ส.ว.จึงไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะมีการขนคนมาสมัคร ส.ว.แล้วจะเลือกกันเอง วิธีการอันนี้ต้องมีการแก้ไข

ตนคิดว่าวิธีการแก้ไขของ ส.ว.ต้องทันกับอำนาจของ ส.ว. ถ้าอำนาจมากก็ต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชนให้มาก ถ้ามีอำนาจน้อยก็จะเป็นสภาในการประณีประนอมอำนาจ เพราะอำนาจประชาชนมีแน่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันยังมีอำนาจของสถาบันอื่นๆในประเทศนี้อยู่อีก เพราะฉะนั้นมันมีอำนาจได้แต่ต้องไม่มากเกินไป

สิ่งที่พวกตนเคยคิดกันตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ทำไม่ทันคือให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เลือกตั้งแบบเขต แต่สุดท้ายเราได้เลือกตั้ง ส.ว.แบบจังหวัดเป็นเขต ได้ ส.ว.มาจังหวัดละคน หน้าตาของ ส.ว.ก็ไม่ต่างจาก ส.ส. กลายเป็นสภาทาส แต่ถ้าให้ ส.ว.ไม่ยึดโยงกับประชาชนก็ไม่ได้

ตนเห็นว่าถ้ามีสองสภาควรต้องทำให้ชัด ถ้าจะเป็นการเลือกตั้งเลือกโดยอาชีพ เราอาจจะแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 10 กลุ่มอาชีพ แล้วให้ประชาชนทุกคนไปเลือกสังกัดกลุ่มอาชีพตัวเอง แล้วให้คนมาสมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพ ประชาชนทุกคนก็จะได้เลือก นี่จะมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่า แต่ ส.ว.สูตรนี้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ส.ว.จะมีความเป็นสภาวิชาชีพ เป็นสภาผู้ใหญ่ คอยกลั่นกรองกฎหมาย และอาจมีความสำคัญในการควบคุมองค์กรอิสระ แบบนี้น่าจะไปได้ เพราะทุกวันนี้องค์กรอิสระมีปัญหามาก เพราะขาดการควบคุมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น กกต., ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ เราจะต้องประดิษฐ์อะไรมาควบคุมองค์กรอิสระเหล่านี้

"พิภพ" เล่าประวัติศาตร์สอง รธน. "แก้ยาก" ที่แก้ได้มาแล้ว 

ส่วนนายพิภพ ระบุว่าในมุมมองของตนแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะว่าแก้ยากก็ยากแก้ง่ายก็ง่าย ที่พูดเช่นนี้เพราะเรามีรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาแล้วหลายฉบับ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญฉบับจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีใครคิดว่าจะแก้ไขได้ แต่การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับ 2535 ก็เช่นเดียวกัน ใครคิดว่าจะแก้ได้ ตอนนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองรวมกลุ่มกันจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าต่อมานักการเมืองที่มีบทบาทนำตอนนั้น คือคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) เอาด้วย เพราะการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่กดดันไปที่นักการเมืองก็เลยแก้ได้ แล้วเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งแรก ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเขียนรัฐธรรมนูญทั้งทางตรงและทางอ้อม

มาวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกบล็อคไว้แล้วก็ดูเหมือนว่าจะแก้ไม่ได้ แต่การกำหนดยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง จะไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ สิ่งที่ตนอยากแนะนำพรรคอนาคตใหม่ คือต้องระวังระหว่างการเคลื่อนไหวของประชาชนกับการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ถ้าอยากให้มีกระบวนการธงเชียวแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคอนาคตใหม่ต้องไปขับเคลื่อนในสภา ในขณะเดียวกันภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังหาหัวการนำไม่ได้ ต้องหาหัวการนำให้ได้ แล้วเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวในสภา ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องทำแนวร่วมพรรคการเมืองในสภาให้ได้เสียงมากขึ้น

ตนไม่กลัวว่ารัฐธรรมนูฐญ 2560 จะแก้ยาก เพราะตนเคยผ่านรัฐธรรมนูญที่ว่าแก้ยากมาแล้ว และก็เกิดการแก้ไขได้ มาจากการกำหนดยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวสองแบบ คือในรัฐสภากับภาคประชาชน จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญได้ในที่สุด ตนไม่เชื่อว่าวุฒิสมาชิกจะขวางได้ เขาจะขวางแน่ แต่การกำหนดยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีที่ถูกต้องจะทำให้เขาขวางไม่ได้

หน้าแรก » การเมือง