วันพุธ ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567 00:16 น.

การเมือง

"ยุทธพล"ส่งพญาเสือไขปริศนาเกาะพีพี ใครปล่อยน้ำเสียลงทะเล?

วันอังคาร ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563, 11.13 น.

ลุยหาข้อเท็จจริงน้ำเสียเกาะพีพี  "ยุทธพล"  ลั่นต้องหาคนรับผิดชอบตัวจริงให้ได้ ส่งพญาเสือ ลงตรวจพื้นที่เข้ม

วันที่ 21 เม.ย.2563 หลังจากกรณีภาพน้ำเสียคล้ายน้ำมันไหลลงทะเลเกาะพีพี แพร่กระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ท จนทราบถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งตรงผ่าน นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยนายยุทธพล เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ หน่วยพญาเสือ ให้ลงพื้นที่เกาะพีพี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง พบข้อเท็จจริงว่า น้ำเสียที่ไหลลงทะเลเกาะพีพีนั้น เป็นน้ำเสียจากโรงแรมผู้ประกอบการแห่งหนึ่งบนเกาะที่ล้างระบบบำบัดน้ำเสีย และลักลอบปล่อยน้ำเสียทิ้งลงลำรางระบายน้ำโดยตรง

เบื้องต้น เช้าวันที่ 20 เม.ย. นายพนัชกร  โพธิบัณฑิต หัวหน้าหน่วยพญาเสือ พร้อมกำลังจนท.หน่วยพญาเสือได้ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนขยายผลการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากพิจารณา​แล้วเห็นว่า พฤติกรรมของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะพีพี​ ซึ่งมีนักการเมืองท้องถิ่น​ เป็นเจ้าของกิจการ และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ย่อมทราบดีว่า​ การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะซึ่งเป็นลำรางปลายทางไหลลงสู่ทะเลน่านน้ำไทย และเป็นพื้นที่อุทยาน​แห่งชาติ​หาดนพรัตน์ธารา​-หมู่เกาะพีพี ย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะและอุทยานฯ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น 

อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังเป็นเขตควบคุมสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2559 เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าของกิจการโรงแรม และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะและอุทยานฯ แต่เจ้าของกิจการโรงแรม และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงแรมของตน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ​ เจ้าของกิจการโรงแรม และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ดังนี้

- มาตรา 19 (2) ภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด กระทำการอื่นใด (ปล่อยน้ำเสีย) อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทลงโทษตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น 

นายยุทธพล กล่าวทิ้งท้ายว่า "รมว.ทส.วราวุธ ให้ความสำคัญและจริงจังกับปัญหาทรัพยากรทางทะเลมาก จากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารต่างๆ ที่เข้ามาหาประโยชน์ หากำไรจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่กลับไร้ความผิดชอบที่จะรักษาธรรมชาติที่เป็นแหล่งทำกินของตัวเอง ซ้ำร้ายยังเป็นคนที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมเสียเอง กลุ่มนี้จะต้องได้รับการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฏหมายอย่างถึงที่สุด เพราะถือว่ามาหากำไรจากสมบัติของชาติแล้วยังไร้สำนึกความรับผิดชอบที่จะช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ดี"

หน้าแรก » การเมือง