วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 19:28 น.

การเมือง

"ธนาธร-อภิสิทธิ์-จาตุรนต์" ร่วมเสวนา "ประเทศไทยในอีกทศวรรษ"

วันศุกร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563, 14.36 น.

"ธนาธร-อภิสิทธิ์-จาตุรนต์" ร่วมวงเสวนา "ประเทศไทยในอีกทศวรรษ" - ชี้ครบรอบ "รัฐประหาร 49" เป็น 14 ปี ที่ประเทศย่ำถอยหลัง - เผย 5 เรื่องสำคัญจำเป็นต้อง "ปฏิรูป"

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในหัวข้อ "ประเทศไทยในทศวรรษหน้า" พร้อมกับวิทยากรร่วมรายการอีก 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

ช่วงแรก นายธนาธรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภาพฝันเกี่ยวกับประเทศไทยที่ตนเองอยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้าด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ด้านการต่างประเทศ ฯลฯ  โดยชี้ให้เห็นถึงระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนแค่ไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูล คนจนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยได้รับการเหลียวแล โดยสรุปด้วยว่า แต่เพราะความฝันเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้นแบบนี้เองที่ทำให้ตนถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชังชาติ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้ก็เป็นความฝันของคนอีกหลายล้านคนเช่นกัน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไปสู่จุดนั้นได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ยิ่งในรอบ 2 ปีที่ตนมีโอกาสได้ไปเป็นกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณราจ่ายประจำปี ยิ่งทำให้มั่นใจ แต่ก็ได้เห็นว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรของประเทศไทยไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จะไปสู่จุดที่ฝันได้ ต้องแก้ปัญหาและโจทย์ทางการเมืองเหล่านี้

ชี้ 14 ปี รัฐประหาร ก.ย.49 ถึงเวลาย้อนมองความผิดพลาดแก้ไขเพื่ออนาคต - เผย 5 เรื่องสำคัญจำเป็นต้อง "ปฏิรูป"
     
นายธนาธร กล่าววว่า พรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบ 14 ปี การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาเราเห็นการปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ปิดสถานีโทรทัศน์ ปิดสี่แยกเศรษฐกิจ ปิดคูหาเลือกตั้ง มีการชุมนุม การล้อมปราบที่นำมาซึ่งคนบาดเจ็บล้มตาย การยุบพรรคการเมืองต่างๆ เราเห็นการรัฐประหารสองครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจสองครั้ง การเอาภาษีประชาชนและงบประมาณของประเทศมาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใกล้ชิดเพื่อเป็นเสาค้ำยันการสืบบทอดอำนาจ ซึ่งถ้าเรายังปล่อยให้อนาคตของเราเป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา อนาคตแบบที่เราอยากเห็นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น นี่คือโอกาสที่เราทุกคนจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตนเห็นว่าทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ  แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะมาตั้งต้นกันใหม่ ยอมรับความผิดพลาดในอดีต แล้วหาทางไปข้างหน้า ให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา และโอกาสที่เราจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตกำลังจะหมดแล้ว โดยขั้นแรกที่สุด เราต้องหยุด "ระบอบประยุทธ์" ให้ได้ ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ หยุดระบอบประยุทธ์ในรูปรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
     
"แต่ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ นั่นก็ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน แต่เป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้น เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบที่ผ่านมาอีก เรายังมีอีก 4-5 ประการต้องทำคือ 1.ปฏิรูประบบราชการที่ส่วนกลาง คืนอำนาจงบประมาณให้ต่างจังหวัดมีอำนาจตัดสินอนาคตตัวเอง 2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 4.ยกเลิกการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กแข่งขันกัน และ 5. ถึงวันนี้คงมีความจำเป็นแล้วที่จะต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจดีว่าเมื่อพูดแล้ว สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้คนหลายท่าน แต่อยากจะให้พวกเราย้อนกลับมามองดูในประวัติศาสตร์ว่าบทบาทและสถานะของสถาบัน กับหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันสอดคล้องกันหรือไม่ ดังนั้น เพื่อจะทำให้สังคมไปข้างหน้า เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไป หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว" นายธนาธร กล่าว

หมดหวังรัฐสภา- มองไม่เห็นเจตจำนงที่แรงกล้าสู่การเปลี่ยนแปลง - ชี้ความหวังอยู่ที่ประชาชนกระทุ้งรัฐบาลรับฟังเสียง
     
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า จากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เหลือความศรัทธาในสภาชุดปัจจุบัน ไม่เห็นว่ารัฐสภาวันนี้มีเจตนาที่แรงกล้าพอในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พาสังคมไทยไปข้างหน้าแล้วหลุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ได้ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน ซึ่งกฎกติกาที่สังคมจะอยู่ได้ด้วยสันติ ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทุกคนเคารพในกติกานั้น จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ พาสังคมไปข้างหน้าได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน ว่าเราจะไม่ทนอีกแล้วกับสังคมแบบนี้ การชุมนุมแบบสันติปราศจากความรุนแรงและการใช้อาวุธ เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองและทำให้เขาต้องฟังประชาชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ ก็คือไปชุมนุมกันให้มากที่สุด
     
"ส่วนประเด็นที่มีความห่วงใยกันว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการชุมนุม ผมเห็นว่าเวลาเราจะพูดถึงความรุนแรงหรือการปะทะ คนที่เราต้องเรียกร้องคือตำรวจ ทหาร และรัฐบาล ว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือไม่ การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนหรือมีข้อเรียกร้องทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่ได้รับประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในฉบับปี 2560 การชุมนุมอย่างสันติปราศจากอาวุธคือการใช้สิทธิในฐานะพลเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ และเมื่อย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการประชาชนเอาปืนไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนทั้งสิ้น" นายธนาธร กล่าว


สอนมวย "ประยุทธ์" แก้โควิด เศรษฐกิจ และการเมืองทำได้พร้อมกันในคราวเดียว - ย้ำ ม. 272 ต้องแก้ป้องกันยุบสภาหนีและกระบวนการแก้ รธน.ยุติ
    
นายธนาธร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันก่อนว่าถ้ามีการชุมนุม เรียกร้องการเมืองจะทำให้รัฐบาลเสียสมาธิในการแก้ปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจนั้น  ตนเห็นว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดมามีข้อผิดเต็มไปหมด ประการแรก การแก้ปัญหาโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถทำไปด้วยกันพร้อมกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเครื่องมือในการแก้ปัญหาทั้งหมดจากสภามาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 , พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ และรวมถึง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ซึ่งสภาก็คงจะผ่านให้อีก มีเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจและโควิดได้ทั้งหมด ดังนั้น เรื่องจัดการปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลล้วนๆ
    
"แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์บอกคำเดียวว่าเสียงข้างมากในสภา อย่างน้อยที่สุดที่อยู่ในสังกัด พล.อ.ประยุทธ์ให้มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญกัน ก็สามารถทำได้ทันที ไทม์ไลน์ที่ว่านั้น ถ้ามีเจตจำนงจริงๆ ปีครึ่งก็ทำได้ ถ้าเจตจำนงมีจริงๆ ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญกันเถอะ ถ้าไม่ใช่ว่าเพียงที่จะซื้อเวลา อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่ต้องแก้ มาตรา 272 เรื่อง ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ในระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกำลังเดินไปทำไปพร้อมกันได้ เพราะเกิดมีการยุบสภาขึ้นมาเมื่อไหร่ กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะหายไปเลย กรรมาธิการที่ศึกษาหรือทำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะหายไปทันที นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องผลักดันมาตรา 272 เพื่อไม่ให้รัฐบาลยุบสภาหนี ซึ่งยุบสภานั้นจะเป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ" นายธนาธร กล่าว

หน้าแรก » การเมือง