วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 20:54 น.

การเมือง

“สามารถ” ฉะ “พิธา” บิดเบือน 19 ก.ย.49 ปั่นม็อบ 19 ก.ย.63

วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563, 22.55 น.

“สามารถ” เตือน “พิธา” แยกเรื่องส่วนตัวออกจากการเมือง ชี้ 19 กันยายน 2549 เกิดรัฐประหารก็เพราะมวลชนลงถนน สร้างความวุ่นวาย แนะควรใช้กลไกสภาแก้ปัญหาการเมืองจะดีกว่า อย่าทำตัวแบบปากว่าตาขยิบ

วันนี้ (19 ก.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ตนได้รับข้อมูลจากประชาชนกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงวันที่ 19 ก.ย.49 ตรงกับวันบิดาของนายพิธาเสียชีวิต ทำให้ นายพิธา ต้องกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อมาทำธุรกิจและทำหน้าที่เสาหลักของครอบครัว เป็นวันที่มีผลต่อ นายพิธา ซึ่งตรงนี้ผมขอแสดงความเสียใจในเรื่องดังกล่าว แต่ นายพิธา ต้องแยกให้ออกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องของการเมือง อย่าทำตัวแบบ"ปากว่า ตาขยิบ" แนะ ไม่ควรมาให้ข้อมูลเท็จและใช้จิตวิทยาการเมืองปลุกมวลชนจนเกิดความวุ่นวาย ซึ่งในวันที่ 19 ก.ย.49 นายพิธาอยู่ต่างประเทศอาจไม่ทราบว่าวันดังกล่าวเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ผมจึงให้ข้อมูลจริงเพื่ออยากเตือนสติ นายพิธา ว่าจะพูดอะไรควรพูดความจริงเพราะมีตำแหน่งถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำให้ ส.ส.เดินตามได้ถูกต้อง

นายสามารถ กล่าวอีกว่า นายพิธา ได้บอกว่า เมื่อปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ได้ทำการปฏิวัติและรัฐประหาร 2 ครั้ง ผู้นำแย่งอำนาจจากประชาชน โดยตนขอชี้แจ้งว่าทุกพรรคการเมืองก็ได้ผ่านการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชน เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 อีกทั้ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้กลไกรัฐสภาและได้ให้ฝ่ายค้านได้ตรวจสอบอย่างเต็มที่

ล่าสุดเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ พรรคก้าวไกลได้อภิปรายในหลายประเด็น ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้สอบถาม นายกรัฐมนตรี หลายครั้งทั้งญัตติ 152 อภิปรายทั่วไป แต่ฝ่ายค้านกลับอภิปรายไม่ตรงประเด็นและให้ร้ายรัฐบาลเพื่อปลุกระดมมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง ผมจึงอยากย้อนในอดีตมีเหตุการณ์หนึ่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเวลาใกล้เคียง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น ซึ่ง นายแพทยพรหมินทร์ ได้หอบเอกสารปึกใหญ่ขึ้นรถ พร้อม พล.ต.อ.ชิดชัย เคลื่อนออกจากทำเนียบ และกำลังอีกส่วนหนึ่งตำรวจได้ไปรักษาความปลอดภัยบ้านจันทร์ส่องฟ้า ก่อนมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ซึ่งถ้าย้อนเหตุการณ์ไปก่อนหน้าจะพบว่าเมื่อปี 2548 มีการชุมนุมบนท้องถนนขับไล่รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ที่มีการกล่าวหาว่าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ต่อมา วันที่ 24 ก.พ.49 รัฐบาลนายทักษิณ ได้ประกาศยุบสภา เนื่องจากมีสาเหตุมาจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า มีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวตนเอง แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ การขายหุ้นของครอบครัวให้กับบริษัทต่างชาติและมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงได้มีการชุมนุมเรียกร้องบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลจนเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลาย เนื่องจากฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนมีแนวโน้มที่จะออกมาปะทะกัน เหตุการณ์เริ่มส่อเค้าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะสงบแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินการขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติในวันแรกที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 8 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2549 แต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยการประกาศยุบสภาก็เพื่อหวังชนะการเลือกตั้ง แต่หลายพรรคการเมืองได้คว่ำบาตรในครั้งนั้น"

นายสามารถ กล่าวต่อว่า จากอดีตที่ผ่านมา การชุมนุมต่างๆ บนท้องถนนแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เคยได้ช่วยแก้ปัญหาได้เลย ตั้งแต่ปี 48 -57 สุดท้ายจบลงด้วยแกนนำติดคุกถูกดำเนินคดีและประชาธิปไตยก็ยังคงวงเวียนแบบเดิม โดยรัฐบาลเองปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งจากพ่อแม่พี่น้องประชาชน เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 รัฐบาลเองก็ได้ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ปัญหามาการเมิองมาโดยตลอดตามระบอบกลไกประชาธิปไตยและจะล่าสุดได้มีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า โดยวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและสภาได้มีการบรรจุให้พิจารณา ในวันที่ 23-23 ก.ย.นี้ และ นายพิธา ควรจะเข้าร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองดีกว่าปลุกมวลชนลงถนนเพื่อทำให้เกิดรัฐประหาร ตนขอฝากข้อความถึง นายพิธา ให้ได้ฉุดคิดเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเมืองใหม่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และ ให้ประเทศชาติเดินด้วยกลไกประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หน้าแรก » การเมือง