วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 16:17 น.

การเมือง

ม็อบนัดชุมนุมเย็น 26 ต.ค.สถานทูตเยอรมนี - สวนดุสิตโพลชี้ปชช.ขอนายกฯแก้อย่าซื้อเวลา

วันอาทิตย์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 10.44 น.

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 เพจเฟซบุ๊กของเยาวชนปลดแอก และเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศชวนกลุ่มราษฎร เข้าร่วมชุมนุมโดยเดินขบวนจากแยกสามย่าน ไปยังสถานทูตเยอรมนี ในเย็นวันที่ 26 ต.ค.นี้ หลังจากที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการตอบรับภายในกำหนดระยะเวลา 3 วันซึ่งสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วานนี้ (24 ต.ค.)
          
เพจเฟซบุ๊กของเยาวชนปลดแอก โพสต์เมื่อวานนี้ว่า "หลังจาก 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาชนผู้รักในประชาธิปไตยได้ให้เวลา 3 วัน ในการเซ็นใบลาออกของประยุทธ์ จนถึงตอนนี้ ครบ 3 วันแล้ว ประยุทธ์ไม่มีทีท่าว่าจะลาออกแม้แต่อย่างใด...วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมนี้ 17:00 น.นี้! โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เดินขบวนจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมัน รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดตาม"
          
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุนนุม ระบุว่า "เมื่อประยุทธ์ไม่ยอมออก เห็นทีแล้วเราก็คงต้องเจอกัน...จันทร์นี้เจอกัน เดินขบวนจากสามย่าน ไปสถานทูตเยอรมัน!"
          
ม็อบราษฎร ได้ชุมนุมต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันฯ

สวนดุสิตโพลชี้ปชช.ขอนายกฯแก้ปมม็อบอย่าซื้อเวลา 

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,738คน ที่มีต่อ“การชุมนุมทางการเมือง ณ วันนี้” ระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม 2563 เมื่อถามถึงสาเหตุ การชุมนุมทางการเมืองที่มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ พบว่า ร้อยละ 62.33 ระบุ ไม่พอใจการบริหารงานของนายกฯ รองลงมาร้อยละ 49.85 ระบุ ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย/ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ รอยละ 48.42 ระบุ เป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
          
เมื่อถามถึง สิ่งที่อยากบอกกับ “รัฐบาล” เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ วันนี้ พบว่า ร้อยละ 72.37 ระบุ ต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข/อย่าซื้อเวลา รองลงมาร้อยละ 61.69 ระบุ ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ร้อยละ 60.43 ระบุ อยากให้ฟังเสียงประชาชน/ผู้ชุมนุม ขณะสิ่งที่อยากบอกกับ “ผู้ชุมนุม” พบว่า ร้อยละ 73.31 ระบุ มีสติ อย่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ฝ่ายใด รองลงมาร้อยละ 65.97 ระบุ ระมัดระวังเรื่องการระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 63.85 ระบุ ไม่ใช้ความรุนแรง
          
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากบอกกับ “สื่อมวลชน” พบว่า ร้อยละ 84.21 ระบุ มีจรรยาบรรณวิชาชีพสื่ออย่างแท้จริง รองลงมา ร้อยละ 77.27 ระบุ เป็นกลาง ร้อยละ 73.77 ระบุ นำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์/ไม่ชี้นำ ท้ายที่สุด เมื่อถามว่า ทำอย่างไร การชุมนุมทางการเมืองจึงจะยุติ ร้อยละ 61.44 ระบุ ไม่ใช้ความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย รองลงมา ร้อยละ 57.90 ระบุ รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุม ร้อยละ 56.58 ระบุ ควรมีการเจรจา/ตกลงกันแบบสันติวิธี
          
ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “รุนแรง...แตกแยก?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,336 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง  โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
          
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่าจะเกิด การบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม พบว่า ร้อยละ 24.48 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ กังวลว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นและอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่บางส่วนระบุว่า กลุ่มคณะราษฎรในปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป หัวรุนแรงร้อยละ 34.21 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ กังวลว่าจะมีการสร้างสถานการณ์เหมือนในอดีต เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ ร้อยละ 18.41 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ เป็นการแสดงสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคณะราษฎรในการเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 22.23 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ ทุกเพศทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นการชุมนุมอย่างสงบ และ  เป็นการชุมนุมเพียงระยะเวลาสั้น ๆ และร้อยละ 0.67 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
          
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.45ระบุว่า กำลังคิดอยู่ว่าควรจะตัดสินใจสนับสนุนฝ่ายใด รองลงมา ร้อยละ 33.46 ระบุว่า ได้ตัดสินใจเลือกสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ร้อยละ 29.94 ระบุว่า ขออยู่เฉย ๆ ไม่ตัดสินใจอะไร และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ตอบ
          
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.52 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.73 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.27 เป็นเพศหญิง
          
ตัวอย่างร้อยละ 8.46 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.85 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.11 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.51 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.07 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.28 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.99 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.67 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.06 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.20 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.71 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.82 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
          
ตัวอย่างร้อยละ 29.64 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.36 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.01 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 21.86 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.57 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.56 ไม่ระบุการศึกษา
          
ตัวอย่างร้อยละ 10.03 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.98 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.11ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.69 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.29 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.51 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.59 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.80 ไม่ระบุอาชีพ
          
ตัวอย่างร้อยละ 17.81 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.42 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.78 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 5.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.59 ไม่ระบุรายได้

หน้าแรก » การเมือง