วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 23:48 น.

การเมือง

ปธ.ทีดีอาร์ไอแนะใช้กลไกรัฐสภา-ทำประชามติแบบ "เบร็กซิท" อังกฤษ ฝ่าวิกฤตชาติ

วันอาทิตย์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 13.56 น.

"สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานทีดีอาร์ไอ แนะใช้กระบวนการรัฐสภาอภิปรายทางออกประเทศ หากไม่ได้ผลเสนอทำประชามติ เหมือนกรณี "เบร็กซิท" ของอังกฤษ แนะรัฐบาล-ม็อบเลี่ยงขยายขัดแย้ง ชี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายได้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563  นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ทางการเมือง ในประเด็นบทบาทของสถาบัน โดยเห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นต่างออกไปได้ ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยระงับข้อขัดแย้ง โดยกระบวนการทางรัฐสภาถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์

          
หากกระบวนการทางรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการทำประชามติ เปิดให้แต่ละฝ่ายแสดงเหตุผลของตนได้อย่างเป็นธรรม ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่มีการคุกคาม เหมือนการทำประชามติเรื่อง “เบร็กซิท” (หรือการให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) ของคนอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ควรมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย ซึ่งต้องมีบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย
          
นายสมเกียรติเห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้ง ควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทางการเมืองทั้งหมด ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม ควรทำความเข้าใจและเห็นใจผู้เห็นต่างมากขึ้น เลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำและสัญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการท้าทาย ยั่วยุ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่อาจเกิดการเผชิญหน้า อีกทั้งทุกฝ่ายควรป้องกันการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการทำรัฐประหาร ลดระดับการกล่าวหากันและเลิกรุมประณามผู้ที่เห็นต่าง โดยมีข้อความดังนี้
          
"เพื่อนๆ ครับ ที่ผ่านมาผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองบ่อยนัก เพราะไม่คิดว่าตัวเองมีความรู้มากไปกว่าผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านที่ได้ให้ข้อคิดเห็นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมขอแสดงความคิดเห็นจากมุมมองส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศไทยของเรานะครับ
          
ที่มาของความห่วงใยของผมคือ ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทยทุกวันนี้ทำท่าจะถ่างกว้างขึ้นทุกที โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวมากคือ บทบาทของสถาบัน จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว จากการปะทะกันในการชุมนุมสาธารณะ หรือการเผชิญหน้ากันในพิธีการสำคัญต่างๆ
          
สำหรับคนไทยจำนวนมาก คำถามที่สำคัญคือ เราควรมีระบบการเมืองการปกครองแบบไหน และสถาบันควรมีบทบาทอย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายก็ได้แสดงความเห็นตามความเชื่อของตนออกมา เห็นได้ชัดว่ายังมีความแตกต่างกันทางความคิดอยู่มาก ซึ่งทุกฝ่ายควรพูดคุยกันต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างใจเย็นๆ และพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น
          
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมไม่มีองค์กรทางการเมืองหรือสถาบันใดที่จะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องปรับตัว และไม่มีองค์กรทางการเมืองหรือสถาบันใดที่จะสามารถอยู่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ความพยายามที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการปรับตัว หรือกระทั่งพยายามย้อนกลับไปสู่อดีต 80-90 ปีก่อนนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และจะสร้างความเสียหายใหญ่ให้เกิดขึ้น
          
ถึงจุดหนึ่ง เราอาจพบว่า ยากที่การพูดคุยในบางประเด็นจะทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันได้ และยากที่ฝ่ายหนึ่งจะสามารถโน้มน้าวใจให้อีกฝ่ายคิดและเชื่อเหมือนตนได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งควบคู่ไปด้วยคือ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หากไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันในประเด็นที่สำคัญ?
          
ประเด็นที่ผมอยากเสนอก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็คงต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นต่างออกไปได้ และเผลอๆ คนที่เห็นต่างจากเราอาจเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทของเราเอง ผมจึงขอฝากข้อคิดและข้อเสนอบางประเด็นดังต่อไปนี้ ให้เพื่อนๆ ช่วยกันขบคิดและหาทางดำเนินการต่อไปครับ
          
หนึ่ง อย่าไปคิดว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาไกลจนเลยจุดที่สามารถพูดคุย หรือหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว เพราะอย่างน้อยก็โชคดีที่ความขัดแย้งในประเทศไทย เป็นเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องศาสนา หรือเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ามาก
          
สอง ควรตระหนักว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดได้ นอกจากจะพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยในการระงับข้อขัดแย้ง วิธีการแรกที่ควรทำคือ การใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ โดยควรให้บทบาทหลักแก่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ในการหาทางออกร่วมกันให้แก่สังคม
          
ทั้งนี้ หากกระบวนการทางรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ควรทำคือการกลับไปถามประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ผ่านการทำประชามติ ดังที่บางท่านเคยเสนอไว้ โดยเปิดให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงเหตุผลของตนได้อย่างเป็นธรรม ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่มีการคุกคามกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของกระบวนการ ไม่ให้มีเรื่องค้างคาใจกันหลงเหลืออยู่เหมือนการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 แน่นอน ทางเลือกนี้อาจไม่สามารถลดข้อขัดแย้งได้หมด แต่หากทุกฝ่ายยอมรับกระบวนการ สังคมไทยก็น่าจะพอเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนการทำประชามติเรื่อง “เบร็กซิท” ของคนอังกฤษ ซึ่งแม้สุดท้ายอาจจะไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่ออังกฤษ แต่ก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคม
          
สาม ไม่ว่ากระบวนการที่เป็นทางการข้างต้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ควรมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย ทั้งนี้การพูดคุยกันดังกล่าวไม่ควรทำให้เอิกเกริก จนแต่ละฝ่ายถูกกดดันให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทีได้ ทั้งนี้ อาจมีคำถามว่า ใครจะเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้ต่อต้านรัฐบาล? และใครจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ยอมรับ? ผมคิดว่า ประเด็นนี้ไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่มากจนทำให้ไม่เกิดการพูดคุยกัน เพราะกระบวนการนี้ไม่เป็นทางการและไม่มีผลผูกมัดอยู่แล้ว
          
สี่ กระบวนการหาทางออกร่วมกันที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย จนสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องนี้ ผมมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้ครับ
          
ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเริ่มมีท่าทีในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นในช่วงหลัง จากการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ยกเลิกการปิดสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมบางส่วน อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแท้จริง รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่มีลักษณะทางการเมืองทั้งหมดออกมา และแสดงท่าทีที่เปิดกว้างที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงการข่มขู่ทางกฎหมาย
          
ทางฝ่ายผู้ชุมนุม ควรพยายามทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ที่เห็นต่างมากขึ้น และหากจะแสดงออกในการคัดค้านรัฐบาลหรือเรียกร้องในเรื่องอะไร ควรเลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำและสัญญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกหรือการใช้สัญลักษณ์ที่ท้าทาย หรือถูกตีความได้ว่าเป็นการยั่วยุ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจเกิดการเผชิญหน้า
          
ที่สำคัญ ทุกฝ่ายควรช่วยกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการทำรัฐประหาร ลดระดับการกล่าวหากันและเลิกรุมประณามผู้ที่เห็นต่างจากตน ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหรือดูถูกเหยีดหยาม เพราะจะทำลายบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัย
          
ห้า ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ฝ่ายที่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ไม่ควรที่จะรุกไล่จนอีกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้ไปทั้งหมดและรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่ฝ่ายหลังก็ควรยอมรับข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ และหากต้องการที่จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของสังคมอีกในอนาคต ก็ควรใช้กระบวนการทางรัฐสภาหรือการลงประชามติเป็นหลัก
          
เพื่อนๆ ครับ ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งหากเดินก้าวพลาดไปแล้วอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา จนอาจมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกละเมิดเสรีภาพอย่างร้ายแรง ตลอดจนเกิดความแตกแยกร้าวฉานระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง
          
ในสภาวะเช่นนี้ ผมคิดว่ามีแต่ การใช้เหตุผล สติ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรืออย่างน้อยความอดกลั้นต่อความเห็นต่างและวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถก้าวเดินไปได้อย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้" 

"ปริญญา"ชง7ข้อเสนอ"บิ๊กตู่"ใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาทางการเมือง

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ระบุว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี #พลเอกประยุทธ์ควรต้องทำสิ่งใด แก้ไขรัฐธรรมนูญ - ยุบสภา - ลาออก #เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการ “ถอยคนละก้าว” เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่กำลังกดดันรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพลเอกประยุทธ์แถลงว่า จะนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การหารือของรัฐสภาในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 นั้น เพื่อประโยชน์ในการ “ถอยคนละก้าว” ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรต้องเป็นผู้นำในการถอย ผู้เขียนมีประเด็นที่ขอนำเสนอดังต่อไปนี้
          
1. การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ #ต้นเหตุของชุมนุมคือการสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลที่ให้ คสช.ให้เป็นผู้เลือก ส.ว.ชุดแรกที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้พลเอกประยุทธ์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มาจนถึงปัจจุบัน หาก คสช.ไม่สืบทอดอำนาจก็จะไม่มีการประท้วงหรือการชุมนุมเช่นนี้ การชุมนุมถ้าหากมีก็จะเป็นเรื่องอื่น และจะเป็นการประท้วงนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์
          
การที่คณะรัฐประหารมีอำนาจเลือก ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐประหารทำมาแทบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดให้ ส.ว.ที่มาจากคณะรัฐประหาร มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีมาก่อนเลย ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ควรต้อง “ถอย” เป็นก้าวแรก คือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการถอยไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฏรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผ่านการเลือก ส.ส. โดยประชาชนทุกคนมีเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเห็นต่างกันเพียงใด ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองไหนจะเป็นรัฐบาล จะจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาชนเลือกตั้งไป คสช.ก็เป็นนายกรัฐมนตรีและสืบทอดอำนาจได้อยู่ดีเช่นนี้
          
ในปี 2534 คณะรัฐประหารในชื่อคล้ายคลึงกันคือ ‘คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ หรือ รสช. เคยถอยในเรื่องนี้มาแล้ว ด้วยการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เมื่อมีนิสิตนักศึกษาประท้วงต่อต้านในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้มีคนประท้วงเรื่องนี้มากกว่าในปี 2534 แล้ว คสช.ก็ควรต้องถอยเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจ และจะทำให้สถานการณ์เขม็งตึงทางการเมืองคลายออก และจะนำมาสู่การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยวิถีทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับต่อไป
          
2. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็น #รัฐธรรมนูญที่มีคนต่อต้านไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ไปแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 นั้นนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 หลังเหตุการณ์นองเลือดต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับ เกิดเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งมีที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน มีปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะในปี 2534 ยังไม่มีองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารจะไปยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาได้ดังเช่นในปัจจุบันนี้
          
องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มเกิดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยให้วุฒิสภาที่ประชาชนเลือกโดยตรงเป็นผู้เลือกองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจาก คสช. โดยมีอำนาจเหมือน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งคือให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้ คสช. ไปเกี่ยวข้องกับการสรรหาโดยผ่าน ส.ว. และเกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบและความเชื่อถือที่มีต่อองค์กรอิสระ ความจริงเรื่องนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ของ คสช. ที่ให้ สนช.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระแล้ว ซึ่งถ้าจะกล่าวว่า ส.ว.ชุดแรกคือ สนช.แปลงร่างมา ก็ไม่ผิดความจริงไปนัก
          
นอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศไปถึง 20 ปี โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงมีปัญหายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่สุดท้ายต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีปัญหายิ่งกว่าจึงน่าจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน และควรทำโดยที่ไม่ต้องให้มีการนองเลือดก่อน
          
สำหรับประเด็นที่มีการให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการลงประชามติ จึงไม่อาจจะแก้ไขหรือร่างใหม่ เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักแต่ประการใด เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผู้ออกเสียงให้ผ่านเพียง 61 % และคำถามพ่วงที่ทำให้ ส.ว.ชุดแรกมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ผ่านด้วยคะแนนเพียง 57 % เท่านั้น ถามว่าในขณะนั้นประชาชนที่ลงคะแนนเห็นชอบ ที่ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งและบ้านเมืองเดินหน้าต่อ มีมากกว่า 11 % หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะมิได้มีการกำหนดไว้ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปและจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด และที่สำคัญรัฐธรรมนูญนั้นแก้ไขได้ และร่างใหม่ได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ผ่านประชามติ คสช.ยังฉีกทิ้งได้โดยไม่สนใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วเลย
          
3. #การยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ นั้น เป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะจะเป็นทางลงให้พลเอกประยุทธ์ได้ ทั้งนี้โดยต้องไม่รับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดอีก แต่ปัญหาคือถ้ายุบสภาอย่างเดียวผู้คนจะยังไม่วางใจว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจจริงๆ เพราะตราบใดที่ ส.ว.ชุดแรกยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี คสช.ก็ยังกลับมามีอำนาจใหม่ได้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควร “ถอย” เป็นการเร่งด่วน แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง และยากที่ ส.ว.จะแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจตนเอง แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ยอมที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เชื่อว่าจำนวน ส.ว. 84 เสียงไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใดแม้แต่น้อย
          
4. #การลาออกจากตำแหน่ง ก็เป็นหนทางคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการถอยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา ก็อาจต้องถอยให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ที่พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าจะใช้รัฐสภาเป็นเวทีแก้ปัญหา ไม่ควรเป็นเพียงการโยนปัญหาออกไปจากตัว และให้รัฐสภาถกเถียงกันโดยไม่เกิดการแก้ปัญหาอะไร เพราะผู้ชุมนุมประท้วงพลเอกประยุทธ์ มิใช่ประท้วงรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดพลเอกประยุทธ์มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและมีเสียงทั้งหมดในวุฒิสภา จึงสามารถใช้รัฐสภาในการแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
          
5. นอกจากนี้แล้ว มีประเด็นละเอียดอ่อนประการสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พลเอกประยุทธ์ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ็คให้ตนเอง หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ #แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง พลเอกประยุทธ์ต้องยึดมั่นหลักการนี้และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการออกหน้าและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ดูเหมือนกันตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนที่เห็นต่างกันขัดแย้งกัน และที่สำคัญคือพลเอกประยุทธ์ต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามมากไปกว่านี้
          
6. พลเอกประยุทธ์คงไม่ลืมไปแล้วว่า ท่านเป็น ผบ.ทบ.ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกประท้วงให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และท่านได้ยึดอำนาจซึ่งทำให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้นท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า #ขอเวลาอีกไม่นานความสุขจะคืนมา บัดนี้เวลาผ่านไป 6 ปีแล้ว เราก็ยังไม่เห็น ‘ความสุขที่กลับคืนมา’ นอกจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลที่แย่ลง ความขัดแย้งในสังคมในเรื่องสถาบัน และการกลับมามีการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยที่วันนี้ท่านเป็นผู้ถูกประท้วงเอง ระยะเวลา 6 ปีนั้นยาวนานกว่าอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว
          
แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรแบบไม่ปริ่มน้ำแล้ว และมีเสียงในวุฒิสภาทั้งหมด แต่รัฐบาลไม่ได้มีเสถียรภาพมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนเป็นเสียงข้างมากแบบมีความง่อนแง่น เนื่องจากหากมีพรรคขนาดกลางพรรคหนึ่งพรรคใดถอนตัว ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากพอที่จะไปเสียบแทนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคหนึ่งพรรคใดในสองพรรคนี้จะไปร่วมรัฐบาลกับท่าน และโดยที่โอกาสที่จะมีพรรคถอนตัวก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ให้เหตุผลในการยกมือให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคการเมืองนั้นจะถูกผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การถอนตัวได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ช้าข้างหน้านี้ ท่านจึงควรต้องรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาหรือลาออก ดังที่ท่านอาจจะได้เคยแนะนำอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และดังที่ท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า ‘เราจะทำตามสัญญา ความสุขจะกลับคืนมา’ ก่อนที่สถานการณ์จะกลายไปเป็นวิกฤตการณ์จนไม่มีทางออก และประชาชนจะมีความทุกข์จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งมากไปกว่านี้
          
7. ท้ายที่สุดนี้เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือ #รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอีก หากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านดังเช่นที่เกิดหลังจากการสลายการชุมนุมที่ปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องมองว่าผู้ชุมนุมเพียงแค่มาทวงสัญญาที่พลเอกประยุทธ์ได้สัญญาไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
          
ความรุนแรงจะไม่เกิดถ้าไม่มีฝ่ายใดเริ่มก่อน ในฐานะที่ประเทศไทยมีบทเรียนเรื่องการนองเลือดมามากแล้ว เราไม่ควรเกิดเหตุการณ์รุนแรงอีก ซึ่งเราสามารถทำได้โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ และแก้ปัญหาการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีก

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง