วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 07:40 น.

การเมือง

ได้ปล่อยตัวชั่วคราว! อดีตอนาคตใหม่คดีแฟลชม็อบสกายวอล์ก

วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 14.28 น.

ได้ปล่อยตัวชั่วคราว! อดีตอนาคตใหม่คดีแฟลชม็อบสกายวอล์ก  ด้าน "ธนาธร" ชี้มุ่งจับแกนนำเข้าคุก คือตั้งโจทย์ผิดปัญหาไม่จบ 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง6 (ปทุมวัน) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 จ.นครปฐม เดินทางมารับฟังคำสั่งตามที่อัยการนัดหมาย กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากเหตุการณ์ชุมนุมแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ล่าสุด ทางทนายความ แจ้งความคืบหน้าในส่วนของคดีความ ทางอัยการได้ส่งฟ้องต่อศาลและศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่ไม่ต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะมีนัดต่อไปในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้ารับฟังคำสั่งของศาล ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ โดยนายธนาธร ในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีข้อสังเกตถึงมาตรฐานที่ต่างกันในกรณีคำตัดสินของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝั่งของตนเอง รวมถึงทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับนายธัญญ์วาริน และคดีความต่างๆต่อ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในการต่อสู้กับความอยุติธรรม 

"สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด จึงนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องของผู้มีอำนาจ ที่คิดว่าต้องเอาคนที่อยู่เบื้องหน้า เอาแกนนำจับเข้าคุกให้หมด เป็นการตั้งโจทย์และมีวิธีการที่ผิด ถึงไม่มีนายธนาธร นายปิยบุตร น.ส.พรรณิการ์ พวกเขานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนก็จะยังต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขา เพื่อประชาธิปไตย การยิ่งจับกุมผู้คนเข้าคุกมีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น" นายธนาธร กล่าว 

ด้าน นายปิยบุตร กล่าวว่า กรณีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อมวลชนของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นว่าเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น และทำไปทำมาแล้วกลายเป็นผู้ที่ถูกผลกระทบคืออดีตผู้สมัครและคนที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่กรณีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนครที่ถูกตัดสิทธิก่อนเลือกตั้ง และต่อมาก็เป็นนายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และก็มาเป็นกรณีของนายธัญญ์วาริน ทั้งหมดจำนวน 3 คน 

"มีประเด็นว่ามาตรฐานการตัดสินของสองศาลไม่เหมือนกัน ศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งกรณีของคุณภูเบศวร์ ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่าดูที่หนังสือบริคณห์สนธิ ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งในบริษัททำสื่อ ก็ถือว่าโดนทั้งหมดโดยไม่ดูว่าประกอบกิจการสื่อหรือไม่ แต่แนวทางคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ มีแนวทางว่าต้องประกอบกิจการจริงๆด้วย แม้ว่าในหนังสือบริคณห์สนธิจะมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนก็ตามที ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จะคืนสิทธิคุณภูเบศวร์ที่ได้ไปตัดสิทธิไว้ตอนนั้นอย่างไร รวมทั้งมีปัญหาในประเด็นที่ว่า การที่ ส.ส.โดนพิจารณาตัดสินคดีนั้น เรื่องทั้งหมดไม่ควรต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก เพราะว่าทุกคนเป็น ส.ส.ไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร มีช่วงเวลาอยู่แล้วที่ทำโดยศาลฎีกา หลังจากนั้นเมื่อเป็น ส.ส.แล้ว จะตรวจว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามต้องตรวจในสถานะ ณ เวลาตอนที่เขาเป็น ส.ส.ไปแล้วว่ามีหุ้นหรือไม่ แต่นี่กลับย้อนไปตรวจตั้งแต่วันที่สมัคร จึงนำไปสู่ความสับสนอลม่าน และหากจะทำความเข้าใจเหตุผลที่ริเริ่มกันแบบนี้อย่างตรงไปตรงมาก็คือ มีนักร้องที่ต้องการเล่นงานคุณธนาธร จึงกลายเป็นปัญหากระบวนการที่ลักลั่นกัน" 

นายปิยบุตร ยังได้ยกอีกกรณีที่ชวนกังขาคือ การตัดสินคดีหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ที่นำไปสู้การตัดสิทธิการเป็น ส.ส. ของ นายธนาธร โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่จดทะเบียนเลิกบริษัทนั้นอาจจะนำมาเปิดกิจการเมื่อใดก็ได้ แต่เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.63) การตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูณต่อกรณีของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นการปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่จดทะเบียนเลิกเหมือนกัน แต่ศาลไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ สุดท้ายแล้วแนวทางคำวินิจฉัยของศาลควรจะเป็นอย่างไรกันแน่ ในส่วนของประเด็นเรื่องการดำเนินคดีทางอาญานั้น เวลาที่พูดถึงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร หมายถึงเป็นการผูกพันเฉพาะผลของคำวินิจฉัย คือ นายธัญญ์วาริน และนายธนาธร ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว แต่ไม่ได้ผูกพันเรื่องข้อเท็จจริง ความเห็น หรือเหตุผลประกอบที่ศาลรัฐธรรมนูญนำไปใช้ในคดี ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นคือ กรณีตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ที่อ้างว่ามีการจ้างวานพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง ในตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค แต่พอมาดำเนินคดีอาญากับพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่กล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวาน สุดท้ายศาลยกฟ้องเนื่องด้วยหลักฐานไม่เพียงพอ

ด้าน นายพิธา กล่าวว่า กรณีที่ นายธัญญ์วาริน ถูกวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ทำให้พรรคสูญเสีย ส.ส.น้ำดีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศและวัฒนธรรม ผ่านการทำหนังละคร รวมไปถึงการเป็นผู้แทนราษฎร 

"พวกเราตั้งใจทำพรรคการเมืองที่ดีที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในระบบ ต่อกรณีความท้าทายและประเด็นต่างๆ ของสังคมไทย พวกเราไม่ได้หวาดหวั่น เมื่อวานนี้คุณธัญญ์วารินหรือพี่กอล์ฟ ได้ฝากเพื่อน ส.ส.ให้ช่วยกันผลักดันในประเด็นต่างๆ ที่เคยริเริ่มเอาไว้ พรรคก้าวไกลถึงแม้จะสูญเสียในเชิงตัวเลข แต่ในเชิงคุณภาพไม่ได้ลดลง พวกเราพร้อมจะช่วยกันเติมเต็มและสานเจตนารมณ์ที่คุณธัญญ์วารินได้ริเริ่มไว้ทั้งการผลักดัน การอภิปรายต่างๆ" นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

หน้าแรก » การเมือง