วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 01:26 น.

การเมือง

ในหลวงและพระราชินี ทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สาย"เฉลิมรัชมงคล"(สายสีน้ำเงิน)

วันเสาร์ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 19.17 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สาย "เฉลิมรัชมงคล" (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร - สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค  กรุงเทพมหานคร

เมื่อเวลา 17.35 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สาย "เฉลิมรัชมงคล" (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ
 

ครั้นเสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยมีประชาชนที่สวมเสื้อสีเหลืองมาจับจองพื้นบริเวณฟุตปาธริม ถ.สนามไชยอย่างคับคั่ง
          
จากนั้น เสด็จเข้าสถานีไปยังมณฑลพิธี ประทับพระราชอาสน์ ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และบัตรโดยสารรถไฟฟ้าที่ระลึก แล้วทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย เฉลิมรัชมงคล"  ก่อนทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายแบบจำลองรถไฟฟ้า และเสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย "เฉลิมรัชมงคล"  (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย
          
เวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังชั้นชานชาลา เสด็จเข้ารถไฟฟ้าพระที่นั่ง ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 11 กิโลเมตร โดยเส้นทางการเดินรถไฟฟ้านี้จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสนามไชยไปยังสถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ และเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระจนถึงสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ใช้เวลา 12 นาที รวม 9 สถานี โดยไม่จอดตามสถานีระหว่างทาง
          
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย "เฉลิมรัชมงคล"  (สีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ แล้วเสร็จคือ ช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง และช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน "เฉลิมรัชมงคล"  และปัจจุบันมีการเปิดให้บริการสำหรับช่วงที่ 1 ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 ครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 วันที่ 29 กันยายน 2562 และวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามลำดับ
          
โดยเส้นทางส่วนใหญ่เป็นวงกลมครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 4 สถานี และโครงสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ 16 สถานี จำนวนรวม 20 สถานี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยายนี้ได้เสนอเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ "เฉลิมรัชมงคล" ซึ่งมีความหมายว่า งานเฉลิมความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา เป็นชื่อเส้นทางรถไฟฟ้าดังกล่าวด้วย นับเป็นสิริมงคลและเกียรติประวัติแก่กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และพสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น ซึ่งขณะนี้โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย "เฉลิมรัชมงคล"  ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนตลอดเส้นทางอย่างเป็นทางการแล้ว ในวันนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการลดปัญหาการจราจรตามนโยบายของรัฐบาล
          
จากนั้นเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ บริเวณลานห้างเดอะมอลล์ บางแค (ระยะทางประมาณ 30 เมตร) แล้วประทับรถนต์พระที่นั่งเสด็จฯกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

หน้าแรก » การเมือง