วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 17:02 น.

การเมือง

รัฐบาลจัดเที่ยวบินอพยพคนไทย กลับจากเมียนมา 16 มี.ค.นี้

วันพฤหัสบดี ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2564, 20.23 น.

เมื่อวันที่ 4  มีนาคม 2564  เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า รัฐบาลไทยได้จัดเตรียมเครื่องบินของสายการบิน Myanmar National Airways (MNA) ซึ่งจะมีเที่ยวบิน relief flight กลับประเทศไทยในวันที่ 16 มี.ค.2564 ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยในวันดังกล่าวสามารถแจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 11 มี.ค.2564 ได้ทางช่องทาง ดังนี้:-

โทรศัพท์ (+951) 222 784 และ (+951) 226 728 (วันเวลาทำการ ตั้งแต่ 09.00-11.30 น. และ 13.30-17.00 น.)
          
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามก็ได้ส่งเครื่องบินรับประชาชนกลับประเทศเช่นกัน ขณะที่สิงคโปร์ออกคำเตือนให้ประชาชนรีบเดินทางออกจากเมียนมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ชาวเวียดนามจำนวนเกือบ 400 คนได้เดินทางออกจากเมียนมาในวันนี้โดยเที่ยวบิน 2 เที่ยวซึ่งมีการจัดเตรียมโดยสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำเมียนมา และสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ผู้โดยสารดังกล่าวได้รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว
          
สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามระบุว่า ทางสถานทูตกำลังจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และได้ให้ข้อมูลแก่ชาวเวียดนามที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสารสำหรับประชาชน

ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์รีบเดินทางออกจากเมียนมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารของเมียนมาจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
          
"เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของเมียนมา ซึ่งทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลสิงคโปร์จึงขอแนะนำให้ชาวสิงคโปร์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมียนมาในขณะนี้ นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ที่ขณะนี้อาศัยอยู่ในเมียนมาก็ควรพิจารณารีบเดินทางออกจากประเทศโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่ยังสามารถทำได้" แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุ
          
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารของเมียนมามากถึง 38 รายเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
          
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงรวม 50 รายนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ขณะที่แกนนำของการชุมนุมระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่าจำนวนดังกล่าว
          
นางคริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำเมียนมา เปิดเผยว่า ตนได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมา และได้เตือนว่าเมียนมาจะถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ และจะถูกตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารในเดือนก.พ. แต่เมียนมาก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อท่าทีของนานาชาติแต่อย่างใด
          
นางบูร์เกเนอร์กล่าวว่า ตนได้สนทนากับพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐของเมียนมา เพื่อเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่เมียนมาจะได้รับจากการก่อรัฐประหาร
          
"คำตอบของเขาคือ 'เราเคยถูกคว่ำบาตรมาแล้ว และเราก็รอดมาแล้ว' และเมื่อดิฉันเตือนว่าพวกเขาจะถูกโดดเดี่ยว คำตอบคือ 'เราต้องเรียนรู้ที่จะเดินร่วมกับเพื่อนเพียงไม่กี่ประเทศ' " นางบูร์เกเนอร์กล่าว
          
ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาเคยปกครองประเทศมานานเกือบ 50 ปี ก่อนที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี เมื่อราว 10 ปีก่อน และได้จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2558 ซึ่งทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
          
ต่อมา รัฐบาลของนางซูจีได้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ได้ส่งผลให้กองทัพเมียนมาออกมาทำรัฐประหาร โดยอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง และกองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ทำการตรวจสอบการโกงเลือกตั้งดังกล่าว
          
การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ได้สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน ซึ่งได้ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร ส่งผลให้กองทัพทำการปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  

หน้าแรก » การเมือง