วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 08:21 น.

การเมือง

"พิธา"นำพรรคก้าวไกลหัก "เพื่อไทย" มุ่งปิดสวิตช์ ส.ว. พ่วงไม่ร่วมลงชื่อแก้ 256

วันอังคาร ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 13.13 น.

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564  เวลา 09.10 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล แถลงข่าว เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งที่ประชุมพรรคฯ มีมติดังนี้

1. หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะยืดเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อนตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ซึ่งในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่จะมีขึ้นปลายเดือนนี้ ประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติโดยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น

2. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่คิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดโอกาสให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น

3. การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหลายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดความสับสนและสถานการณ์ปัจจุบันแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราควรมุ่งเน้นให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

4. ที่ประชุมพรรคฯ มีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจำกัดอำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจของประชาชน  ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย และเคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน

5. หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาลไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคฯ เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด โดยที่ประชุมพรรคฯ เห็นชอบให้ยกเลิกการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช.  
ในการนี้ ส.ส. พรรคก้าวไกล จะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (16 มิ.ย. 64)

หน้าแรก » การเมือง