วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 06:39 น.

การเมือง

"คำนูณ"เอาบ้าง! ประกาศชัดร่วมโหวตแก้รธน.ปิดสวิตซ์"ส.ว."

วันจันทร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 11.12 น.

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ใช้เวลาสแกนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับจาก 3 กลุ่มพรรคการ เมืองคือ พรรคพลังประชารัฐ 1ฉบับ พรรคเพื่อไทย 4ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3พรรค 8ฉบับ จำแนกได้ 9 ประเด็นในร่าง13ฉบับได้แก่ 1.เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งส.ส.เป็นระบบบัตร 2ใบ เสนอโดยทั้ง 3กลุ่มพรรคการเมือง 2.ตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองที่ไปยุ่งเกี่ยวการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยแก้มาตรา144 และ185 ที่เพิ่งมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี2560 เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ 3.ยกเลิกอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล 4.เปลี่ยนวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกเงื่อนไขส.ว.ต้องเห็นชอบ1ใน3 ในวาระ1และ3 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 5.เปลี่ยน แปลงบทบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เสนอโดยทั้ง 3กลุ่มพรรคการเมือง 6.ยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน เสนอโดยทั้ง 3กลุ่มพรรคการเมือง 7.ปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษป.ป.ช. เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 8.ยก ระดับหมวดการปกครองท้องถิ่น เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 9.ป้องกันการรัฐประหาร ยกเลิกบทบัญญัตินิรโทษกรรมคสช.เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ทั้งหมดสรุปภาพรวมได้ 3ประเด็นคือ 1.สมนาคุณพรรคใหญ่ 2.ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง 3.ปิดสวิตซ์ส.ว.          

นายคำนูณกล่าวว่า เชื่อว่าประเด็นที่หวังผลเต็มร้อยคือ การสมนาคุณพรรคใหญ่และถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกงที่อยู่ในร่างพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามากที่สุด เพราะมีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม ส่วนประเด็นถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แม้เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ลึกๆแล้ว ทุกพรรคเห็นด้วย ถ้าเชื่อมโยงทั้ง 2ประเด็นนี้เข้ากับสถานการณ์การเมือง ทั้งเงื่อนเวลาที่เหลือไม่เกิน 2ปี จะครบเทอม การเตรียมรับการเลือกตั้งของทุกพรรค การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จะเข้าใจภาพรวมการเมืองไทยในอนาคตไม่ยากว่า เหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงผลักดันเต็มที่ ส่วนประเด็นปิดสวิตซ์ส.ว. ไม่อาจหวังผลได้ เพราะยากได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว. เป็นประเด็นที่เสนอไว้ เพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย ขณะที่การยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชนและการปกครองท้องถิ่นมีไว้เพื่อชี้ว่า เป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง ส่วนตัวเห็นด้วยการตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ เคยแสดงเจตนารมณ์โหวตเห็นด้วยไปแล้ว ณ วันนี้ยังเห็นเหมือนเดิม ร่างใดเสนอตัดมาตรา272 จะลงมติเห็นชอบแน่นอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา144 และ185 ที่ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นประเด็นถูกมัดรวมอยู่ในร่างพรรคพลังประชารัฐ
          
นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น ไม่เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี2540 ที่มีกฎเอื้อ 2พรรคใหญ่ ก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่มาแล้ว เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก แต่การจะคงระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทางที่ควรจะเป็นคือใช้บัตร 2 ใบ ในระบบสัดส่วนผสมตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยยกร่างไว้เมื่อปี 2558 ประเด็นนี้จะลงมติอย่างไร ขอตัดสินใจอีกครั้ง รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ทั้งการยกระดับสิทธิเสรีภาพประชาชนที่อยู่ในร่างทั้ง 3กลุ่ม และการปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษป.ป.ช. ต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ขอฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างเพื่อความชัดเจน

"ราเมศ"ย้ำ"ชวน"ยึดรธน.และข้อบังคับเคร่งครัด
 
นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ออกมากล่าวหานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรื่องการไม่บรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับว่า ยืนยันการทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยึดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ให้เกียรติและเคารพทุกคน สร้างบรรทัดฐานของรัฐสภา ยึดมั่นหลักนิติธรรม การจะมากล่าวหาว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งสิ้น

นายชูศักดิ์  ศิรินิล พรรคเพื่อไทย เป็นถึงครูบาอาจารย์ต้องย้อนกลับไปดูหลักการรัฐธรรมนูญและข้อบังคับให้ชัด รวมไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ประกอบด้วย ไม่ใช่คิดจะทำตามอำเภอใจตนโดยไม่มีหลัก พอไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาโวยวายไม่สมราคาของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเลย ข้อเท็จจริงยุติว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) (นายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ฉะนั้นประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อ 119 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ได้ จึงจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา

ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับดังกล่าว เข้าระเบียบวาระการประชุมของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาได้

นายราเมศกล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบการพิจารณาด้วยเหตุและผล โดยยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับประกอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ชัดเจนว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่ตกไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 105 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะตกไป แค่ 2 กรณีคือ 1 รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการ 2. รัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบในวาระที่สาม เมื่อร่างยังไม่ตกไป หากต่อไปมีข้อกฎหมายในเรื่องว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า หยุดให้ร้ายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่พรรคเพื่อไทยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าทิ้งภาระให้ลูกหลาน ประธานสภาอย่าขัดขวางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”ล้วนแล้วแต่บิดเบือนทั้งสิ้น คนอย่างนายชวน มีแต่คิดและทำสิ่งดีๆให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังมากมาย ไปโรงเรียนได้ดื่มนม คือโครงการนมโรงเรียน มีอาหารกลางวัน จัดตั้งอนุบาลชนบท มีกองทุนให้ลูกหลานที่ขาดแคลนได้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กยศ ขณะนี้มีลูกหลานกว่า 6 ล้านคน ได้รับโอกาส กระจายโอกาสทางการศึกษาริเริ่มให้มีการขยายมหาวิทยาลัยไป 11 จังหวัด หากพรรคเพื่อไทยฉลาดคิดและจดจำคงไม่มีการใช้ถ้อยคำที่บิดเบือนแบบนี้   แต่สิ่งสำคัญนายชวนไม่เคยทิ้งภาระหนี้สินที่เกิดจากการโกงชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่รับมาตั้งแต้ต้น หากฝ่ายค้านนำเสนอถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่มีใครขวางได้แน่นอน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เมื่อครั้งที่มีกรณีมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าเรื่องดังกล่าวยุติแล้วคำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา ห้ามไม่ให้มีการอภิปราย ประธานรัฐสภาคนที่ชื่อชวน หลีกภัย คนนี้วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งศาลไม่ใช่คำวินิจฉัย ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ฝ่ายค้านสามารถอภิปรายญัตติการอภิปรายทั่วไป ตามญัตติที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านกับอีก 205 คนได้เสนอเพื่อสอบถามกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ได้ตอนนั้นทำไมไม่โวยวายบ้างว่าไม่เป็นกลาง หากความจำสั้นพรรคเพื่อไทยไปค้นดูรายงานการประชุมรัฐสภาวันที่ 18 กันยายน 2562 ก็จะพบคำตอบ

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง