วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 03:30 น.

การเมือง

"ส.ว.อำพล จินดาวัฒนะ" โพสต์ "หลงทางหรือเปล่า?"

วันพฤหัสบดี ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 21.07 น.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ความว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 13จนถึงวันที่ 30กันยายน พ.ศ.2564 นั้น

โดยที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องจนเกิดความเสียหายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการรักษาสุขภาพของประชาชนโดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฉุกเฉินให้วิกฤติยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงและมีความรับผิดชอบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด
          
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
          
ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
          
ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนด ให้สำนักงำาน กสทช.ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที
          
ให้สำนักงาน กสทช.ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตำมวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป
          
ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2564เป็นต้นไป
          ประกาศ ณ วันที่ 28กรกฎาคม พ.ศ.2564
          พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

ออกมาเฟซบุ๊ก"อำพล จินดาวัฒนะ" ส.ว. ได้โพสต์ข้อความว่า 
  
หลงทางหรือเปล่า?

สถานการณ์สงครามโรคโควิด ช่วงเดลต้าโหมกระหน่ำ ติดเชื้อใหม่กระจายไปทั่วประเทศ วันละใกล้2หมื่น รวมเกินครึ่งล้านแล้ว ตายวันละเกิน100
รัฐนาวาเอียงวูบวาบ

ในสถานการณ์สงครามอย่างนี้ รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี มีนโยบายที่ดี มาตรการชัดเจน จัดระบบและบริหารจัดการที่เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมรบกับโควิด ชวนกันวางความขัดแย้งต่างๆไว้ชั่วคราว

เพราะกลไกรัฐรบเองตามลำพังไม่มีทางสำเร็จ

ยุทธศาสตร์สำคัญในยามนี้ คือ 

“การสร้างความร่วมมือทั้งสังคม” เพื่อช่วยกันรบกับโควิด

และต้องมี 

“การสื่อสารที่ง่าย ชัดเจน ทั่วถึง และต่อเนื่อง” เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความร่วมมือของคนทั้งสังคม
ไม่ไช่ยุทธศาสตร์ใช้อำนาจแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เล่นงานสื่อทุกชนิด ไล่จัดการข่าวปลอม  (ซึ่งในโลกยุคสื่อสารไร้พรมแดน จัดการอย่างไรก็ไม่หมดสิ้น)
ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำลังใช้ในช่วงนี้ หลงทางหรือเปล่าครับ??
———-
บันทึกสว.(448)
อำพล, 29กค.64
#รัฐบาลหลงทางหรือเปล่า?
#ระดมความร่วมมือสู้โควิด
#ยุทธศาสตร์สื่อสาร
#สานพลังสู้โควิด 

หน้าแรก » การเมือง