วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 21:55 น.

การเมือง

"อนุทิน"นำ"สธ."บรรลุสัญญาจัดหาไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ยาโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ด

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 16.12 น.

"อนุทิน"นำ"สธ."บรรลุสัญญาจัดหาไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ยาโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ด ให้ศูนย์บางซื่อ-ส.บำราศฯ-รพ.ศรีธัญญา บริการกลุ่มรอวัคซีนเอกชน รอ "ศบค."  เคาะ มาตรการเปิดเมือง ระยะ 2 วอนผู้ประกอบการ ยกการ์ดสูง 

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง ได้ร่วมพิธีลงนามในสัญญาระหว่างกรมควบคุมโรค กับบริษัทไฟเซอร์  เพื่อจัดซื้อวัคซีนในปี 2565 จำนวน 30 ล้านโดส หลังเสร็จพิธี นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ กับผู้สื่อข่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ ที่เพิ่งบรรลุสัญญาจัดหาไปนั้น จะแบ่งนำมาใช้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในกรณีที่ผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว โดยจะแบ่งมาให้บริการประมาณ 10 ล้านโดส ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการต่างๆ จะเรียบร้อย และได้ให้บริการกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ในช่วงต้นปีหน้า ขณะที่อีก 20 ล้านโดส จะให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดียวกัน นายอนุทิน ได้นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามในสัญญาการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 5 หมื่นคอร์ส หรือประมาณ 2 ล้านเม็ด โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการจัดซื้อเข้ามาเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านยา และเวชภัณฑ์ ให้ประชาชนมีความมั่นใจ ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หากติดเชื้อ จะมีแนวทางในการรักษาเพิ่มมากขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะจัดหาเข้ามานั้น มีผลการศึกษาระยะที่ 3 จากอาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการจำนวน 762 รายที่สหรัฐอเมริกา โดยติดตามหลังให้ยาเป็นเวลา 29 วัน ผลการศึกษาทางคลินิกในเบื้องต้น (interim result) พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เข้ารักษาที่โรงพยาบาล 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 53 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 มีผู้เสียชีวิต 8 ราย 

สรุปได้ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงเสียชีวิตหรือรักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลางได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทยเข้าถึงยาชนิดใหม่ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์พิจารณาแล้วว่า จำเป็นต้องจัดหาและจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ โดยกรมการแพทย์รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อจำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป

มีรายงานว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลางที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย สำหรับแผนการจัดหายาดำเนินการโดยประมาณการผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา 1 พันรายต่อวัน จึงได้จัดหายาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา ซึ่งยาขนาดบรรจุภัณฑ์ 1 หน่วย ประกอบด้วยยาขนาด 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จำนวน 40 แคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล (800 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 วัน  

สำหรับการพิจารณาร่างสัญญาและดำเนินการการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ มีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ 1.ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน  500 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ในการจัดซื้อยา 5 หมื่นคอร์สการรักษา 2.สามารถนำยาเข้ามาในประเทศไทย เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไทยแล้วเท่านั้น 3.มีการเจรจาต่อรองราคายาโดยให้รวมภาษีและค่าขนส่ง  4.จำเป็นต้องดำเนินการสัญญาภายใต้มาตรฐานสัญญา (ภาษาอังกฤษ) ที่บริษัท เมอร์ค แอนด์ คัมปานี อินคอร์ปอเรท ซึ่งได้ทำสัญญากับหลายประเทศ โดยได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว  และ 5.จัดซื้อยาเป็นไปตามเงื่อนไขการซื้อยาภายใต้เงื่อนไขการรักษาโรคโควิด 19 ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด 
 
ให้ ศูนย์บางซื่อ-ส.บำราศฯ-รพ.ศรีธัญญา บริการกลุ่มรอวัคซีนเอกชน  

นายอนุทิน  กล่าวถึงการเดินหน้าให้บริการวัคซีนโควิด 19 แก่กลุ่มที่ยังรอวัคซีนจากภาคเอกชน ว่า  เรื่องของวัคซีนโควิด 19 ยิ่งฉีดได้เร็วก็ยิ่งดี วัคซีนที่รัฐจัดหาไว้ให้ ก็มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ แต่หลายคนที่จองวัคซีนไว้กับเอกชน แล้วยังไม่มีความชัดเจน ก็ต้องรอ ทั้งที่ความจริงสามารถมารับบริการได้แล้ว เชิญชวนให้มารับวัคซีน ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย มีวัคซีนแบบ mRNA มาบริการท่านแล้ว และเพื่ออำนวยความสะดวก ได้สั่งการให้กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค ไปจนถึงกรมสุขภาพจิต จัดสถานที่ไว้ฉีดประชาชนที่รอวัคซีน ซึ่งภาครัฐ ก็จะให้บริการวัคซีน mRNA ตามที่ท่านต้องการ สถานที่ที่เตรียมไว้คือ ศูนย์ให้บริการสถานีรถไฟกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.ศรีธัญญา  

“ทุกคนมีสิทธิ ควรเข้ามารับวัคซีนให้เร็วที่สุด ซึ่งสธ.ได้เร่งให้ทุกแห่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ยังไม่ได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ เด็ก และขยายในแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้ไทยมีวัคซีนที่เพียงพอกับคนไทยและคนที่อาศัยในประเทศทุกคน”

จากนั้น นายอนุทิน ได้กล่าวถึงยอดการให้บริการวัคซีนภาพรวม ระบุว่า สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เราจะให้บริการไปถึงตัวเลข 100 ล้านโดส เท่ากับผู้มีสิทธิ์ได้รับวัคซีน 47 ล้านคน ได้รับการฉีดแล้ว จะเหลืออีกประมาณ 3 ล้านคน ที่ต้องเร่งเก็บให้หมด ในปีหน้าประเทศไทย จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาอีก 30 ล้านโดส และมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีก 60 ล้านโดส เป็นเข็มบูสเตอร์ เราน่าจะมีวัคซีนเพียงพอกับความต้องการแล้ว แต่ก็ไม่ลืมที่จะหาข้อมูล และปรับเปลี่ยนแผนการอยู่ตลอด เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ส่วนในเรื่องของยานั้น ล่าสุด บรรลุสัญญา ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ไปแล้ว 5 หมื่นคอร์ส ประมาณ 2 ล้านเม็ด จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการรักษาพยาบาล หลังจากที่เรามียาอย่างฟาวิพิราเวียร์อยู่ ขณะนี้ กำลังเสนอจัดหายา "แพกซ์โลวิด” เข้ามาด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ 

“แต่สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ยิ่งไม่ประมาท ประเทศชาติ ก็ยิ่งจะปลอดภัย ขอให้รักมาตรการ UNIVERSAL PREVENTION ยิ่งมาบวกกับอัตราการได้รับวัคซีนที่มากขึ้นทุกวัน มียอดการติดเชื้อ แต่การป่วยน้อยลง เสียชีวิตน้อยลง ระบบสาธารณสุขไทย ก็น่าจะรับไหว”

รอ “ศบค.” เคาะ มาตรการเปิดเมือง ระยะ 2 วอนผู้ประกอบการ ยกการ์ดสูง 

นายอนุทิน  กล่าวก่อนการประชุม ศบค.พรุ่งนี้(26 พ.ย.64) ระบุว่า ในที่ประชุมน่าจะมีการหารือเรื่องมาตรการการเปิดประเทศระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นหลังเดือนธันวาคม โดยเราจะมีมาตรการผ่อนคลาย กับผู้ที่จะเดินทางเข้ามาที่ไทย เช่น เมื่อมาถึงแล้ว ก็ให้ตรวจด้วย ATK แทน RT-PCR เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทาง และอย่างที่ทราบกันดีว่า นักเดินทาง ก่อนจะขึ้นเครื่อง ต้องทำประกัยสุขภาพตามวงเงินที่กำหนด มีผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR ไปจนถึงใบรับรองการฉีดวัคซีน ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของไทย เมื่อมาถึงไทย การตรวจด้วย ATK ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว แนวทางนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แต่ก็ต้องให้ ศบค. พิจารณา 

เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศ นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศยังคลายล็อกน้อยกว่า และอัตราการได้รับวัคซีนของไทย ก็สูงพอสมควร มาตรการการเฝ้าระวังของไทยเข้มข้นเช่นที่เพิ่งกล่าวไป เพราะเราขอดูทั้งผลตรวจโรค ขอดูใบประกันสุขภาพ เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนต้องครบ จะมาไทย ต้องโชว์เอกสารดังกล่าว มาถึงแล้ว ก็มีการตรวจอีกรอบ ถ้าพบการติดเชื้อต้องรักษาด้วยเงินจากที่นักเดินทางประกันสุขภาพ มาตรการของไทย มีประสิทธิภาพ แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มที่เดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย 

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความกังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่จากกลุ่มสถานบันเทิง นายอนุทิน ตอบว่า ทุกคนก็กังวลเรื่องนี้ ก็ต้องขอให้ผู้ประกอบการเช็กลิสต์ตัวเองกันให้ดีๆ อยู่บนมาตรการ COVID FREE SETTING ส่วนผับบาร์จะเปิดเมื่อไร ต้องขอรัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ ภาครัฐ พร้อมรับฟังข้อเสนอ แต่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะปัจจุบัน เวลาตรวจสอบร้านอาหาร ก็ยังพบ บางร้านที่พนักงานฉีดวัคซีนไม่ครบอยู่เลย ขอย้ำว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ ปัญหาโรคระบาด และปัญหาเรื่องปากท้อง รัฐบาลพยายามแก้ไข ให้คนไทย ได้กลับมาทำมาหากิน บนพื้นฐานความปลอดภัย ส่วนเรื่อง พรก.ฉุกเฉินนั้น เป็นตัวช่วยบูรณาการทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน 

หน้าแรก » การเมือง