วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 13:23 น.

การเมือง

"หมอยง" ฟันธง "โควิดโอไมครอน" มาแทนที่สายพันธุ์เดลตาแน่นอน

วันพุธ ที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 09.51 น.

"หมอยง" ฟันธง "โควิดโอไมครอน" มาแทนที่สายพันธุ์เดลตาแน่นอน ทางด้าน "หมอธีระ" เผยระบาดแล้ว 23 ประเทศ ทั่วโลกปรับนโยบายสู้ เตือนประเมินว่าเอาอยู่ จะนำไปสู่วังวนเดิม  ขณะที่ "อนามัยโลก" วอนอย่าตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ

วันพุธที่ 1 ธันวาคม 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 โอไมครอน แนวโน้มการการแพร่ระบาดได้เร็ว” ระบุว่า มีหลักฐานหลายอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่า โอไมครอน แพร่ระบาดได้เร็ว

1.รหัสพันธุกรรม ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจาก เดลตา การติด และการกระจายโรค ไม่น้อยกว่าเดลตาแน่นอน

2.จากหลักฐานทางการระบาดในแอฟริกา เช่นในเมืองเคาเต็ง (Gauteng) เพียง 2 สัปดาห์ ได้พบผู้ป่วยสายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังพบในประเทศต่าง ๆ ขณะนี้มากกว่า 10 ประเทศ ถึงแม้ว่าจะเดินทางมาจากแอฟริกา แสดงว่า ในแอฟริกาเอง ที่ไม่ได้ตรวจ อาจจะยังมีอีกจำนวนมาก

3.จากการตรวจ ไวรัส ในลำคอ พบว่าปริมาณไวรัสในผู้ป่วย ถึงแม้จะอาการน้อย ก็พบปริมาณไวรัสจำนวนมาก ที่จะแพร่กระจายต่อไปได้ง่าย

ถ้า โอมิครอน ติดง่ายแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา การกระจายของสายพันธุ์ใหม่ ก็จะเข้าแทนที่สายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน

"หมอธีระ" เผยระบาดแล้ว 23 ประเทศ ทั่วโลกปรับนโยบายสู้ เตือนประเมินว่าเอาอยู่ จะนำไปสู่วังวนเดิม 

ทางด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีเนื้อหาดังนี้

1 ธันวาคม 2564...World AIDS Day

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 557,513 คน ตายเพิ่ม 7,258 คน รวมแล้วติดไปรวม 262,988,150 คน เสียชีวิตรวม 5,232,252 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.8

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 63.37 ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็นร้อยละ 60.31

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,306 คน สูงเป็นอันดับ 27 ของโลก

หากรวม ATK อีก 1,744 คน จะขยับเป็นอันดับ 21 ของโลก

ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากตุรกี เวียดนาม และอินเดีย

...Omicron

ตอนนี้มีรายงานจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 23 ประเทศ ครอบคลุมทุกทวีป ทั้งแอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และเอเชีย

ลำพังดูข้อมูลของแอฟริกาใต้ก็คงเห็นว่าการระบาดนั้นเพิ่มขึ้นเร็วมากในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 404% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ล่าสุดมีรายงานจาก BNONews ว่าเคสโอไมครอนในเยอรมันล่าสุดไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งอาจบ่งถึงการติดเชื้อภายในชุมชน หรือ community transmission แต่ยังต้องรอการยืนยันอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก TimeofIsrael ว่า อิสราเอลพบแพทย์ 2 คนติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน โดยรายหนึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมที่ลอนดอน โดยทั้งคู่ได้รับวัคซีนครบไปแล้วสามโดส ทำให้ตอนนี้อิสราเอลมีเคสที่ยืนยันแล้ว 4 ราย ในขณะที่รอการยืนยันอีก 34 ราย

ทั่วโลกนั้นมีความตื่นตัวในการปรับนโยบายและมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโอไมครอน เพราะขณะนี้เป็นการซื้อเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้มีการศึกษาวิจัยให้มีความรู้ที่จะตอบให้ได้ว่าสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะการแพร่ การติด การป่วย การตาย หรือดื้อต่อภูมิคุ้มกันต่างจากสายพันธุ์เดิมๆ หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของลักษณะไวรัสที่เห็นในปัจจุบัน บ่งถึงความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นภาวะคุกคามระดับโลก

ดังนั้น การบริหารจัดการนโยบายและมาตรการระดับชาติจึงต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง จึงจะนำไปสู่สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม

สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ การประเมินด้วยข้อมูลที่จำกัดแล้วมองว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่รุนแรง เอาอยู่

สุดท้ายจะนำไปสู่วังวนเดิมที่เคยเห็นกันมาในอดีต

สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นกิจวัตร

ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร

ด้วยรักและห่วงใย

"อนามัยโลก"วอนอย่าตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นพ.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้นานาประเทศอย่าตื่นตระหนกหลังมีการค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จนทำให้มีการออกมาตรการป้องกันแบบเหวี่ยงแห ซึ่งเป็นการลงโทษต่อชาติแอฟริกาอย่างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูเอชโอมีความกังวลกับสถานการณ์ที่นานาประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทางแบบปูพรม กับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ในทางกลับกันจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ นพ.เทดรอสเน้นย้ำว่า "ยังคงมีคำถามอีกมากมาย" เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโอไมครอน ที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งศึกษาหากคำตอบ โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง และผลกระทบต่อวัคซีนทุกแบบ "แม้มีความเสี่ยงสูงมาก" ที่เชื้อโรคตัวนี้จะเพิ่มอัตราการแพร่ระบาด แต่จนถึงตอนนี้ ดับเบิลยูเอชโอยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ว่ามีผู้ป่วยในประเทศใดเสียชีวิตแล้วจากเชื้อโอไมครอน

หน้าแรก » การเมือง