วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 02:15 น.

การเมือง

กมธ.วุฒิสภาผนึก “อบจ.แพร่” สร้าง “ฝาย” ช่วยแก้จนเกษตรกรยั่งยืน

วันเสาร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565, 15.11 น.

กมธ.แก้ยากจนฯ วุฒิสภา บูรณาการ “อบจ.แพร่” สร้าง “ฝาย” 6 โครงการ ช่วยเกษตรกรทำนาฤดูแล้ง เพิ่มรายได้อย่างมั่นคง ช่วยลดปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 15 ม.ค.64 นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำฯ ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯได้ร่วมบูรณาการ กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่ เพื่อหาหนทางเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร มีอาชีพทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในปีต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ และลดปัญหาความยากจนให้บรรเทาลงได้ โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา อบจ.แพร่ ได้เริ่มงานก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ในลำน้ำจำนวน 3 โครงการ (จากจำนวนที่ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 6 โครงการ) ประกอบไปด้วย 1.ฝายแกนดินซีเมนต์แม่หล่าย 1 , 2.ฝายแกนดินซีเมนต์แม่หล่าย 2 และ 3.ฝายแกนดินซีเมนต์แม่สอง สำหรับ ฝายฯ แห่งที่ 4-6 ที่จะก่อสร้างในแม่น้ำยม ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเตรียมงานเบื้องต้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นเดือนกุมภาพันธุ์ 2565 นี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ได้เสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยระบุว่าเราแก้ไขปัญหาการขาดน้ำการเกษตรมากว่า 60 ปี สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตามแนวทางของธนาคารโลกที่มาแนะนำเราในแผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 1 ปี 2505 ผลทว่าผ่านมากว่า 60 ปี เราสร้างพื้นที่ชลประทานได้เพียง 22 % ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ยังมีพื้นที่อีก 78 % หรือ 101.6 ล้าน ไร่ ที่ทำการเกษตรได้เพียงฤดูฝนเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพียง 4 – 5 เดือน อีก 7 -8 เดือน ต้องอพยพเข้ามาทำงานในเมืองแทน

ทั้งนี้ทางออกของการแก้ไขปัญหา เราทำน้ำขนาดใหญ่มานานแล้ว ต้องปรับแนวทางมาทำน้ำขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ สามารถบริหารจัดการ และบำรุงดูแลรักษาได้ และรัฐบาลมีเงินเพียงพอที่จะทำ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ป่าต้นน้ำ ถือว่าสำคัญมากเพราะมีปริมาณน้ำเกิน 4 เท่าของเขื่อนภูมิพล ป่าต้นน้ำในไทยมี 85 ล้านไร่ งานวิจัยป่า 1 ไร่ เก็บน้ำไว้ได้ถึง 687.84 ลบ/ม. คูณด้วย 85 ล้านไร่ เราจึงเก็บกักน้ำได้ถึง 58,466 ล้าน ลบ/ม. การเก็บกักน้ำทำได้ด้วยทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้ว เป็นฝายชั่วคราวอายุสั้น 3 ปี ต้องเริ่มทำใหม่เป็นกึ่งถาวร ให้ กรมอุทยาน ป่าไม้ จ้างแรงงานชาวบ้านทำฝายแม้วใช้งบ 1,000 ล้าน ได้ฝายถึง 1 แสนตัว ถ้าทำเสร็จเร็วจังหวัดภาคเหนือปัญหาไฟป่าและหมอกควันจะลดลงทันที 2.พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ขาดน้ำในฤดูแล้งมากถึง 101 ล้านไร่ ให้ทำฝายลุ่มน้ำสาขา ซึ่งมีอยู่ 60 ลุ่มน้ำสาขา ทำฝายซีเมนต์ซอย ทั้งลุ่มน้ำเป็นช่วงๆระยะทุก 1 กม. เราก็จะได้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จุน้ำได้ทั้งลำน้ำตลอดฤดูแล้งทันที ทำโดยกรมชลประทาน ซึ่งน้ำชุมชน เป็นน้ำท้องถิ่น ให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมมือขุดลอกของเดิม สร้างสระเก็บกักน้ำใหม่ ขุดบ่อบาดาล และระบบกระจายน้ำ 3.กลุ่มเกษตรกรมีกระจายทั่วไปแต่ไม่มีน้ำทำการเกษตรที่เป็นเกษตรผสมผสาน ซึ่งอาจเป็นการออกเงินสมทบเงินที่รัฐลงทุนให้ เช่น น้ำครัวเรือน ทำบ่อน้ำตื้นและสระขนาดเล็ก ส่วนน้ำกองทุนมีแหล่งน้ำในพื้นที่ทำระบบกระจายน้ำกรองน้ำให้สะอาดทำระบบประปาหมู่บ้าน และน้ำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งคนตกงานกลับบ้านมาทำเกษตรสมัยใหม่โดยการสร้างระบบกระจายน้ำให้อย่างยั่งยืน

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง