วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 12:45 น.

การเมือง

"วีระกร" แถลงจี้ก.พาณิชย์นำเข้าอาหารสัตว์แก้หมูแพง

วันอังคาร ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565, 13.44 น.

 "วีระกร" แถลงจี้ก.พาณิชย์แก้นำเข้าอาหารสัตว์หยุดหมูแพง ขณะที่กรมปศุสัตว์ดึงระบบ GFM ยกระดับการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย ส่งเสริมฟื้นฟูผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรค ASF

วันอังคารที่ 18 มกราคม 2565     เวลา 11.40 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายวีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ  แถลงข่าวกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงว่า ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น  โดยที่ผ่านมาหากสินค้ามีราคาแพง รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาอาหารสัตว์แพงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อหมูแพง นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยได้หยุดเลี้ยงหมูเนื่องจากเกิดโรคระบาด ดังนั้น จะต้องให้กรมปศุสัตว์ ฆ่า เผา ฝัง และหาเงินชดเชยให้เกษตรกร แต่ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่อนุมัติงบประมาณให้กับเกษตรกร จึงทำให้เกษตรกรไม่มีทุนในการเลี้ยงหมู

 

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้นนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าจนทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้นเป็น 7 - 8 บาท ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ต้องติดตามราคาน้ำมันปาล์มที่เหมาะสมไม่ให้ราคาสินค้าแพงจนเกินไป  ซึ่งในขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นและประเทศไทยจะต้องป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจนทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ
สำหรับกรณีราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นนั้น ต้องชื่นชมรัฐบาลที่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท ทำให้ระบบการขนส่งไม่ได้รับผลกระทบอีกต่อไป

กรมปศุสัตว์ดึงระบบ GFM ยกระดับการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย ส่งเสริมฟื้นฟูผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรค ASF

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการระบาดในสุดร ดรมปศุสัตว์มีการขับเคลื่อนฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (GFM) เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย ให้มีการจัดการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ซึ่งเป็นการลดปัญหาจากโรคระบาด และส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย โดยระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ประกอบด้วยการจัด การจัดพื้นที่เลี้ยงและโครงสร้างการจัดการโรงเรือนหรือเล้าและอุปกรณ์ การจัดการยานพาหนะ การจัดการบุคคล การจัดการด้านสุขภาพ การจัดการอาหาร น้ำ และยาสัตว์ การจัดการข้อมูล และการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้ต้นทุนต่ำ สามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาดได้

 นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้วางมาตรการการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยนั้น ในระยะแรก กรมปศุสัตว์สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศให้คำแนะนำ และสำรวจความต้องการการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรภายใต้ตามมาตรการประเมินความเสี่ยง และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี ที่ถูกต้อง และความพร้อมในการเลี้ยงสุกรใหม่ภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) 

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน สุกรแม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร การให้คำแนะนำด้านพืชอาหารสัตว์ต่างๆ รวมทั้งการประสานหาแหล่งทุนสนับสนุนการเลี้ยงสุกร โดย ธ.ก.ส. (โครงการสานฝันสร้างอาชีพฯ รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี) กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กลุ่มวิสาหกิจ/กลุ่มจดทะเบียน/สหกรณ์) ด้วย

 

หน้าแรก » การเมือง