วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 15:54 น.

การเมือง

"ชัชชาติ" หารือ " ส.อ.ท." จ่อตั้ง "กรอ. กทม." ร่วมขับเคลื่อนเมืองกรุง ชี้ชัดเจน ก.ค.นี้

วันอังคาร ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 15.18 น.

เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพฯ ได้เข้าหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท)  โดยกล่าวว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง สร้างรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงมีแนวคิดตรงกันในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม. (กรอ. กทม.) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเมืองและสนับสนุนการพัฒนาในทุกมิติ

อาทิ การนำโมเดลบีซีจี มาใช้ในขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง การส่งเสริมโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมให้เอกชนร่วมปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านโครงการ 12 เทศกาล 12 เดือน และการส่งเสริมเกษตรครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้แต่ชุมชน  นอกจากนี้ พร้อมที่จะพัฒนาระบบการให้บริการของ กทม. ให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงการอนุมัติอนุญาตเป็นแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกไปร่วมหารือกันในการประชุม กรอ. กทม. ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการผลักดัน BCG ลงชุมชนอย่างไรได้บ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการหารือกับ ส.อ.ท. ว่า มีโครงการอะไรที่ต่อยอดได้ เช่น โครงการขยะพลาสติกที่คลองเตย โดยหลักการจะเลือกต้นแบบจากชุมชนที่ทำสำเร็จไปขยายผลต่อ นอกจากนี้ แซนด์บ็อกซ์ มีหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เกษตรมั่นคง สร้างแบรนด์เกษตรที่อยู่ในชุมชน ใช้แรงงานภายในชุมชน ซึ่งอาจจะหาที่ดินว่างเปล่า โดยใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นแรงจูงใจ ซึ่งต้องไปดูเงื่อนไข พร้อมกับนำที่ว่างเปล่าของราชการมาใช้ประโยชน์

"ถ้าทำการเกษตรก็เสียภาษีลดลงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปปลูกกล้วยหรอก มาทำเกษตรให้ชุมชน อย่างน้อยเป็นด้าน CSR กลับคืนไป แล้วได้ภาษีเรตเท่าเดิม" นายชัชชาติ กล่าว

นายเกรียงไกร  กล่าวว่า โดยมีการหารือกันใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ความยั่งยืน 2.ผลักดันโครงการสมาร์ท แอนด์ คัลเจอร์ อินดัสทรี มุ่งเน้นในการสร้างสมาร์ทอินดัสทรีในกรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนทั้งซัพพลายเชนให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งจะมีการเลือกพื้นที่นำร่องทำในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทำให้โมเดลนี้เกิดขึ้นได้ตามรูปแบบที่วางไว้ และ 3.สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ ซึ่งยืนยันว่า โรงงานทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด และพร้อมในการร่วมมือกับกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาต่อไป รวมถึงวางแผนในการจัดตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน ของกรุงเทพมหานคร (กรอ. กทม.) เพื่อหารือร่วมกันตามวาระต่อไป

"การจัดตั้งกรอ. กทม. คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากจะต้องหารือกับสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนการสร้างสมาร์ทซิตี้ที่วางแผนไว้ เราพยายามเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้รัฐบาลไม่ได้ขอ แต่เราอยากทำให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้" นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ได้นำเสนอ ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่  1.Industry Collaboration การผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง 2.First2Next-Gen Industry ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต 3.Smart SMEs ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่สากล  4.Smart Service Platform พัฒนาการบริการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย

ผ่านวิสัยทัศน์ "Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand" เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม รวมถึงนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพมหานคร B C G + E S โดยขับเคลื่อนแนวคิด B : Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry : SAI) โดยการนำพื้นที่เปล่าในกรุงเทพมหานครมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง