วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 05:21 น.

การเมือง

"สอท." อัดสมาชิกรัฐสภา ผลาญงบฯกว่า 500 ล้านถกคว่ำกม.เลือกตั้งสูตรหาร 500

วันพฤหัสบดี ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 10.34 น.

"วิเชียร" ตั้งคำถาม ใครอยู่เบื้องหลังสภาล่ม ชี้ รัฐสภาถูกใช้เป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ ผลาญงบประชุมสูญเปล่ากว่า 500 ล้าน ลั่น ถึงเวลาแก้ไขรธน. ตั้งส.ส.ร. คืนอำนาจให้ประชาชน ขณะที่ "นิพิฏฐ์" โพสต์ซัด"นายกฯ-พรรคร่วม-สส."ด้อยค่าระบบรัฐสภา ปมองค์ประชุมไม่ครบ

วันที่ 11 สิงหาคม 2565   นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) กล่าวถึงกรณีสภาล่ม เนื่องจากมีส.ส.เข้าร่วมประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ไม่ครบองค์ประชุม ว่า การแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาบนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่าวุฒิสภาจะคอยป้องกันการใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปแก้ไขกติกาต่าง ๆ ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ผลร้ายกลับกลายเป็นว่าผู้มีอำนาจสั่งผ่านวุฒิสภามาตัดสินสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเปลี่ยนจากหาร 100 เป็นหาร 500 ซึ่งถือว่าประหลาด และขัดหลักการตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปแล้ว โดยข้อสังเกตเรื่องนี้คือทั้ง ส.ส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รู้ดีว่าสูตรคำนวณต้องบัญญัติอย่างไร จึงเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้สูตรหาร 100 ตามหลักการทั้ง 4 ฉบับ แต่ผู้มีอำนาจกลับใช้มติสภามาแก้ไขจนบิดเบี้ยวเป็นสูตรหาร 500 ซึ่งก็โชคดีที่ไปต่อไม่ได้และถึงจุดจบท่ามกลางความเสียหาย อย่างไรก็ตามตนมีความคิดเห็นว่า

1. สถาบันรัฐสภาถูกมองว่าไม่มีหลักการ ถูกใช้เป็นเครื่องมือ นั่นย่อมเป็นการทำลายสถาบันรัฐสภาอันเป็นผู้แทนปวงชน คำถามคือใครทำจนสภาต้องทำลายตัวเองด้วยการไม่พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน 

2. สภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นค่าตอบแทน ค่าสถานที่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมแล้วเดือนหนึ่งหลายร้อยล้านบาท โดยสภาใช้เวลาพิจารณาอย่างสูญเปล่าเป็นเวลา 180 วันหรือ 6 เดือนรวมมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท

3. ความเชื่อถือศรัทธาของผู้แทนปวงชนที่มาทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายถูกทำลายเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ 

“ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจให้ผู้แทนปวงชนได้ทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง ในการดำเนินการ หรือการเลือกตั้งทั่วไป ต้องจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาทำหน้าที่เขียนบทบัญญัติที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ควรคงไว้ซึ่งบทบัญญัติในหมวดที่ 1 บททั่วไป ซึ่งเป็นหลักการปกครอง และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม และความสงบเรียบร้อยในระบอบประชาธิปไตยของไทย” นายวิเชียร กล่าว

"นิพิฏฐ์"โพสต์ซัด"นายกฯ-พรรคร่วม-สส."ด้อยค่าระบบรัฐสภา ปมองค์ประชุมไม่ครบ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ประชาธิปไตยก็เหมือนต้นไม้ ที่ไม่ได้เจริญงอกงามได้ในดินทุกชนิด ในที่สุด กฎหมายสำคัญที่ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ก็ถูกรัฐสภาคว่ำลง ด้วยวิธีพิสดาร คือ ไม่เข้าประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน 

หากถือว่า กม.นี้ เป็นกม.สำคัญก็ต้องมีผู้แสดงความรับผิดชอบ กล่าวคือ

1.พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขที่ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ต้องแสดงความรับผิดชอบว่า สมาชิกของพรรค ลงมติอย่างไรในกม.สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุผลในการเข้าร่วมรัฐบาล หากลงมติแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป อย่างนี้คงฝากผีฝากไข้กับพรรคการเมืองแบบนั้นไม่ได้

2.พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสมาชิก ที่เป็นเสียงข้างมากและต้องรักษาองค์ประชุมให้ครบ การปล่อยให้กฎหมายสำคัญถูกคว่ำในลักษณะนี้ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือระบบรัฐสภา ถือเป็นการด้อยค่า เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย การคว่ำกม.ที่พิจารณากันมาเองถึง 180 วัน ด้วยการไม่เข้าประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบเป็นวิธีที่ผู้ทรงเกียรติไม่พึงกระทำ เพราะ 180 วัน ที่ท่านพิจารณา มันใช้งบประมาณของประชาชนไปหลายสิบล้าน เป็นการฉีกเงินล้านทิ้งอย่างน่าเสียดาย

3.นายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา เมื่อรัฐสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญที่เป็นนโยบายได้ ความรับผิดชอบย่อมตกแก่นายกรัฐมนตรีด้วย

ผมก็แค่เขียนแสดงความเห็นตามหลักการเท่านั้นแหละครับ ไม่หวังว่าพรรคการเมือง,นักการเมือง หรือ นายกรัฐมนตรี จะออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไร

 

หน้าแรก » การเมือง