วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 09:27 น.

การเมือง

"โคทม อารียา"เสนอบทความเรื่อง"เรามองสันติภาพชายแดนใต้ได้ในหลายมุมมอง" ชี้ "กทม."มีสันติภาพมากสุด

วันอาทิตย์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 17.00 น.

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2565  อาจารย์โคทม อารียา นักสันติวิธีได้เสนอบทความเรื่อง "เรามองสันติภาพชายแดนใต้ได้ในหลายมุมมอง" ความว่า  นักทฤษฎีมักจัดแบ่งสันติภาพเป็นสองแบบ คือสันติภาพเชิงลบ และสันติภาพเชิงบวก แบบแรกมักหมายถึงการไม่มีความรุนแรงทางตรง (ทางกายและทางวาจา) และแบบที่สองมักหมายถึงการที่ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ โดยรัฐและคนอื่นคอยเกื้อหนุนโดยไม่เป็นอุปสรรค ในชายแดนใต้ เราไม่ค่อยมีสันติภาพ การสู้รบได้ยืดเยื้อมาตั้งแต่การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นับถึงวันนี้ก็กว่า 18 ปี กับอีก 7 เดือนแล้ว ส่วนการหาทางออกโดยการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้เริ่มเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นับถึงวันนี้ก็เกือบ 9 ปีครึ่งแล้ว ความรุนแรงทางตรงก็ยังมีอยู่ และเป็นอุปสรรคต่อการลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม 2565 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยพลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้พูดคุยเต็มรูปแบบครั้งที่ 5 กับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ ได้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการยุติความรุนแรงช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีข้อตกลงยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนมาแล้ว คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันว่าจะมุ่งมั่นต่อยอดจากการลดความรุนแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในเดือนรอมฎอน

ในวันที่ 2 คณะพูดคุยฯได้ยื่นข้อเสนอการยุติความรุนแรงและการจัดให้ BRN ได้ปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดกรอบ มาตรการ และกลไกการปฏิบัติร่วมกันที่ครอบคลุมและชัดเจน และสอดรับกับข้อเสนอของพี่น้องชาวไทยพุทธที่ได้ส่งมายังคณะพูดคุยฯ และได้นำมาส่งต่อให้คณะผู้แทน BRN ด้วย ในขณะเดียวกันคณะผู้แทน BRN ได้นำเสนอแนวคิดการยุติความรุนแรงพร้อมด้วยการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่มาให้คณะพูดคุยฯพิจารณา ถึงแม้ว่าเอกสารของทั้งสองฝ่ายจะมีข้อแตกต่างเรื่องของถ้อยคำและรายละเอียด แต่ก็มีเป้าประสงค์ หลักการ และกลไกการดำเนินการที่คล้ายคลึงกัน เช่น มีเป้าประสงค์ที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบในระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งริเริ่มจัดเวทีหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง

คณะพูดคุยฯ และ คณะผู้แทน BRN จะได้นัดพูดคุยกันอีกเร็ว ๆ นี้ เพื่อนำร่างเอกสารต่าง ๆ มาพิจารณาในรายละเอียด โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน และในช่วงก่อนที่จะบรรลุข้อตกลง ก็ขอให้มุ่งมั่นเสริมสร้างบรรยากาศแห่งสันติสุข เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่

จากรายงานของผู้สื่อข่าวที่นำมาสรุปข้างต้น เห็นได้ว่ามีความคืบหน้าบ้างตามหลักการ 3 ข้อที่จะเป็นสารัตถะของการพูดคุย โดยเฉพาะการลดความรุนแรง รวมไปถึงการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนสารัตถะข้อที่ 3 ซึ่งได้แก่การแสวงหาทางออกทางการเมืองนั้น ยังไม่ได้เริ่มการปรึกษาหารือกัน เห็นได้ว่าการพูดคุยเน้นความสำคัญของการสร้างสันติภาพเชิงลบ ตามนัยที่กล่าวถึงในตอนต้นของบทความ

บทความนี้จึงขอเสนอมุมมองที่กว้างขึ้น คือการมองสันติภาพชายแดนใต้ในมุมมองเชิงบวกด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศูนย์นี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องใช้การพัฒนานำการปราบปราม ดังนั้น นโยบายการแก้ปัญหาจึงแบ่งเป็น 2 ด้านคือ ด้านการพัฒนาให้เป็นหน้าที่ของ ศอ.บต. และด้านการปราบปรามให้เป็นหน้าที่ของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ขึ้นอยู่กับแม่ทัพภาคที่ 4

ปัจจุบัน พตท. 43 ได้เปลี่ยนมาเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีบทบาทนำเหนือ ศอ.บต. (นโยบายเปลี่ยนเป็นความมั่นคงนำการพัฒนา) พื้นที่ปฏิบัติการของ ศอ.บต. คือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ศอ.บต. มียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2564-2566) ใน 7 ด้าน คือ

1) การพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน หมู่บ้าน และตำบล โดยประชาชนมีส่วนร่วม

2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับฐานเศรษฐกิจหลักให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ตามศักยภาพของพื้นที่ให้เติบโตอย่างเหมาะสม

3) การพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันบนวิถีพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

4) การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ดีภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

6) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา และ

7) การวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยประชาชนมีส่วนร่วม

สังเกตได้ว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้เขียนไว้อย่างดี โดยเน้นเศรษฐกิจฐานราก (ไม่ใช่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่) เน้นคุณภาพชีวิต พหุวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะเดียวกัน ศอ.บต. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ประสานงานการพัฒนา 'โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' เมื่อปี 2559 ซึ่งต้องการเปลี่ยนพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชานในพื้นที่นั้น ๆ

แต่แล้วเมื่อปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ศอ.บต. พัฒนาโครงการเมืองต้นแบบโครงการที่ 4 ได้แก่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP) และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เป็นผู้ลงทุนหลัก บริษัททั้งสองดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมีมาก่อน โครงการนี้มีแผนการเบื้องต้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบา ในพื้นที่ 16,753 ไร่ ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก ศูนย์รวมและกระจายสินค้า การผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ตามยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของ ศอ.บต. เอง โครงการที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ควรมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ชะลอโครงการจนกว่าจะทำการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (SEA)

ขณะที่ความขัดแย้งอันเนื่องมาแต่ความเห็นต่างต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังไม่ได้คลี่คลายลง ก็เกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาคือ บริษัท TPIPP จะขอสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิมสูง 136 เมตรที่หมู่ 1 ตำบลสะกอม อำเภอเทพา (ตำบลสะกอมมีสองแห่ง ตำบลที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในอำเภอจะนะ) ซึ่งมีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีตอบหนังสือขอหารือของ อบต. สะกอมว่า ศาสนาอิสลามให้ความเคารพต่อการที่ผู้นับถือศาสนาอื่นจะปฏิบัติตามหลักการศาสนาของตน แต่เนื่องจากโครงการนี้มีผู้คัดค้านจำนวนมากในพื้นที่ ประกอบกับการมีความขัดแย้งในชายแดนใต้และมีกระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทย จึงขอให้ อบต. สะกอมปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัท TPIPP เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เป็นบวกและกระทบต่อความรู้สึกน้อยที่สุด (ไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน)

เราไม่ต้องรอให้เกิดความขัดแย้งเพื่อคิดที่จะพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ อีกทั้งไม่ต้องพัฒนาแบบปูพรมด้วย เครื่องมือหนึ่งที่อาจใช้เพื่อการพัฒนาที่ตรงประเด็น (relevant) กับพื้นที่ คือการใช้ดัชนีสันติภาพเชิงบวก ในเรื่องนี้มีหน่วยงานวิชาการหลายแห่งในต่างประเทศที่ทำการศึกษาวิจัยดัชนีดังกล่าวอยู่ สำหรับประเทศไทย สถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำดัชนีสันติภาพ (Peace Index) และเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2562 มาถึงปีนี้ ได้รวบรวมข้อมูลของปีที่แล้วจากแหล่งต่าง ๆ มาจัดทำเป็นดัชนีปี 2565 ซึ่งกำลังเปิดรับฟังการวิจารณ์อยู่ ผมได้ขออนุญาตชลัท ประเทืองรัตนา สถาบันพระปกเกล้า และ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องนี้ นำข้อมูลของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด มานำเสนอในบทความนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่าควรมุ่งพัฒนาในเรื่องใดเพื่อลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของจังหวัดนั้นๆ โดยหวังว่าการพัฒนาเชิงบวกจะตอบโจทย์ของการสร้างสันติภาพได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น

ชลัทและคณะ คำนวณดัชนีสันติภาพรายจังหวัดในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ดัชนีรวมของจังหวัด: P

2. ดัชนีการไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ: P1

3. ดัชนีความปลอดภัยและความมั่งคงในสังคม: P2

4. ดัชนีการยอมรับความหลากหลาย/การไม่เลือกปฏิบัติ/การเคารพสิทธิมนุษยชน: P3

5. ดัชนีการมีความเหลื่อมล้ำในสังคมน้อยและมีการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม: P4

ดัชนีรวมของจังหวัด: P

ชลัทและคณะคำนวณค่าดัชนีรวมของจังหวัด หรือ P โดยนำค่าดัชนีเฉพาะด้าน 4 ด้านข้างต้นมาบวกกัน นั่นคือ

P = P1 + P2 + P3 + P4

แล้วทำให้เป็นมาตรฐาน (normalize) คือให้ค่าสูงสุดของ P เท่ากับ 1

จากนั้นก็จัดระดับคะแนนสำหรับค่า P ดังนี้

ปรากฏว่าจังหวัดที่มีดัชนีสันติภาพสูงสุด (คะแนนเท่ากับ 5) มีอยู่ 5 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ซึ่งตรงกับจังหวัดที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และจังหวัดที่มีดัชนีสันติภาพต่ำสุด (คะแนนเท่ากับ 1) มีอยู่ 5 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ตาก ปัตตานี สระแก้ว แม่ฮ่องสอน ซึ่ง 4 จังหวัดอยู่ตามชายแดน และชัยภูมิอยู่ในเขตภูเขา

จากการคำนวณสำหรับจังหวัดที่อยู่ในชายแดนใต้ พบว่ายะลาได้คะแนนเท่ากับ 4, สงขลาได้ 3, สตูลและนราธิวาสได้ 2 ส่วนปัตตานีรั้งท้ายได้เพียง 1 คะแนน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการเฉลี่ยค่า P ทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งให้ค่า P เฉลี่ยเท่ากับ 3.25 แล้ว จะมีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่เหนือกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

ดัชนีการไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ: P1

ชลัทและคณะคำนวณค่าดัชนี P1 จากการบวกค่าดัชนีย่อย 5 ดัชนี (ดูชื่อดัชนีย่อยในตารางข้างล่าง) แล้วทำให้เป็นมาตรฐานคือให้ค่าสูงสุดของ P1 เท่ากับ 1 จากนั้นนำไปจัดระดับคะแนน จาก 5 ถึง 1 ตามช่วงของค่าดัชนีในทำนองเดียวกับที่จัดคะแนนให้ P ข้างต้น ผลการคำนวณเป็นคะแนนแสดงในตารางต่อไปนี้

จากตารางที่แสดงค่าของ P1 มีเพียงสตูลเท่านั้นที่ดัชนีความรุนแรงทางกายภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนอีก 4 จังหวัด ดัชนีความรุนแรงทางกายภาพอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และเป็นปัญหาที่ควรรีบแก้ไข

ดัชนีความปลอดภัยและความมั่งคงในสังคม: P2

ชลัทและคณะคำนวณค่าดัชนี P2 จากการบวกค่าดัชนีย่อย 5 ดัชนี (ดูชื่อดัชนีย่อยในตารางข้างล่าง) จากนั้นทำให้เป็นมาตรฐานและจัดระดับคะแนน ซึ่งให้ผลดังนี้

ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมอยู่ในเกณฑ์ต่ำสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด

ดัชนีการยอมรับความหลากหลาย/การไม่เลือกปฏิบัติ/การเคารพสิทธิมนุษยชน: P3

ชลัทและคณะคำนวณค่าดัชนี P3 จากการบวกค่าดัชนีย่อย 7 ดัชนี (ดูชื่อดัชนีย่อยในตารางข้างล่าง) จากนั้นทำให้เป็นมาตรฐานและจัดระดับคะแนน ซึ่งให้ผลดังนี้

ในเรื่องการยอมรับความหลากหลาย จังหวัดยะลาและนราธิวาสอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนจังหวัดสตูล สงขลาและปัตตานี จะต้องเร่งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและการเคารพซึ่งกันและกันให้มากขึ้น

ดัชนีการมีความเหลื่อมล้ำในสังคมน้อยและมีการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม: P4

ชลัทและคณะคำนวณค่าดัชนี P4 จากการบวกค่าดัชนีย่อย 10 ดัชนี (ดูชื่อดัชนีย่อยในตารางข้างล่าง) จากนั้นทำให้เป็นมาตรฐานและจัดระดับคะแนน ซึ่งให้ผลดังนี้

ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีดัชนีความเหลื่อมล้ำในเกณฑ์ปานกลางและไล่เลี่ยกัน และที่ดีกว่าเพื่อนยังคงเป็นจังหวัดยะลา

บทความนี้ได้เริ่มด้วยการรายงานความคืบหน้าในการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งก้าวต่อไปน่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คณะผู้แทน BRN และองค์กรของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐสามารถมาพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกัน ต้องระวังในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ และโครงการสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม เพื่อให้ประเด็นเช่นนี้คลี่คลายไปในทางสร้างความเข้าใจมากกว่าสร้างความบาดหมางกัน

เนื้อหาที่สำคัญที่นำเสนอในตอนท้ายของบทความ เป็นการชวนให้คิดถึงการพัฒนาสันติภาพในมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงสันติภาพเชิงบวก เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้เครื่องมือหนึ่ง คือการคำนวณดัชนีสันติภาพ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาเป็นรายจังหวัดและเป็นรายประเด็นไป ดังเช่นที่คณะผู้วิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าได้ริเริ่มไว้

หน้าแรก » การเมือง