วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 07:56 น.

อสังหา

บิ๊กลลิลพร็อพเพอร์ตี้มองรัฐปลดล็อกLTVส่งผลดีตลาดอสังหาฯ

วันจันทร์ ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 13.12 น.

บิ๊กลลิลพร็อพเพอร์ตี้มองรัฐปลดล็อกLTVส่งผลดีตลาดอสังหาฯ

 

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ชี้ตลาดอสังหาฯ ครึ่งหลังปี 62 ยังมีทิศทางเป็นบวก หลังภาครัฐชัดเจนเร่งลงทุนโครงการใหญ่ เชื่อผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาโครงการเจาะกลุ่มเรียลดีมานด์ เผยแผนครึ่งหลังเดินหน้าผุด 5 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 3,500 ล้านบาท พร้อมโชว์ผลงานครึ่งปีแรกกวาดยอดขาย 3,100 ล้านบาท ด้าน “ไชยยันต์” ยอมรับรัฐปลดล็อกLTVกรณีผู้กู้ร่วมส่งผลดีภาพรวมตลาดอสังหาฯ

 

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2562 คาดว่า ยังคงมีทิศทางที่เป็นบวกในครึ่งปีหลัง แต่อัตราการปรับตัวอาจอยู่ในกรอบที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอุปทานคงเหลือในหลายพื้นที่ โดยการเติบโตจะเห็นชัดเจนในพื้นที่ที่ประชาชนมีกำลังซื้อ และมุ่งเน้นเจาะไปที่กลุ่มเรียลดีมานด์ โดยการพัฒนาโครงการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะอาศัยแรงบวกจากนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนคือ การลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เฉพาะเช่นพื้นที่อีอีซีที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตา

 

ในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2562 บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาโครงการแนวราบเป็นหลัก เน้นเจาะไปยังตลาดเรียลดีมานด์โดยเน้นทำเลที่มีการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม แหล่งงาน และ ชุมชนเป็นหลักเพราะมั่นใจว่าจะมีการเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและวางแผนพัฒนาโครงการใหม่ 5 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มดำเนินการขายไปแล้วรวม 4 โครงการ ในส่วนของกลยุทธ์การตลาด บริษัทจะมุ่งเน้นตลาดเชิงรุก ทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์มาร์เก็ตติ้ง ตลอดจนการทำ CRM อย่างต่อเนื่อง

 

“แผนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 นี้ บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาโครงการแนวราบในย่านที่มี บลูปริ้น ของความเป็นเมืองหรือชุมชนศักยภาพที่พร้อมจะเติบโตสู่การเป็นย่านเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งทำเลหลักยังเป็นเขตรอบของกรุงเทพฯ ทั้งโซนทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกเป็นหลัก รวมถึงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0”นายชูรัชฏ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามในปี 2562 นี้บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมียอดขาย 3,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58% ของเป้าหมายยอดขายในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5,300 ล้านบาท เป้าหมายรายได้ 4,650 ล้านบาท เติบโต 15% ทั้งนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 149.79 ล้านบาท ลดลง 31.81% มีรายได้ 864.93 ล้านบาท ลดลง 25.75% ส่วนรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 2,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.69% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้อยู่ที่ 2,081 ล้านบาท

 

ด้านนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ในส่วนของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จะไม่ถือเป็นผู้กู้ด้วยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการปลดล็อกผู้กู้ร่วม จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในภาพแม็คโครประมาณ 10% แต่ทั้งนี้ ในส่วนของผู้กู้ร่วมที่มีชื่อในโฉนดที่ดินแล้วนั้น หากเราจะช่วยเหลือก็ควรที่จะปลดชื่อผู้กู้ร่วมออก โดยพิจารณาจากเรื่องผู้กู้หลักมีความสามารถชำระหนี้ที่ดีและต่อเนื่อง และระดับหนี้ลดลง และหนี้คุ้มหลักประกันแล้ว ก็ให้ปลดผู้กู้ร่วมออกไปจากสัญญาดังกล่าว  มิฉะนั้นชื่อผู้กู้ร่วมจะต้องผูกมัดในสัญญาเรื่องเงินกู้ยาวไปถึง 20 ปี ก็อยากฝากเรื่องนี้ไปยังธนาคารด้วย ไม่ใช่ฝากไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพียงอย่างเดียว

 

 "จริงๆ ผู้กู้ร่วมเข้ามาช่วยผู้กู้หลัก ซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้กู้ร่วมด้วย ไม่ใช่ผู้กู้ร่วมไม่สามารถไปกู้อะไรได้เลยในระยะ 20 ปี "

 

นายชูรัชฏ์ กล่าวเสริมต่อว่า ในส่วนของบริษัทลลิลฯ จะมีผู้กู้ร่วมที่ซื้อโครงการของบริษัทลลิลฯประมาณ 50% ซึ่งการผ่อนปรนดังกล่าว จะช่วยให้ผู้กู้ร่วม มีโอกาสที่จะไปดำเนินธุรกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ถูกนับร่วมเป็นบ้านหลังที่สองแล้ว ซึ่งในส่วนของบริษัทลลิลฯจะมีผู้กู้ร่วมที่ทำสัญญากับธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนที่มาก ซึ่งเดียวนี้กู้ร่วมกันทั้งนั้น

 

 สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ นายชูรัชฏ์ กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหัวรถจักร การเติบโตของธุรกิจอสังหาฯจะช่วยลากธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้เศรษฐกิจเติบโต แรงขับเคลื่อนของอสังหาฯจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประมาณ 2-3 เท่า ดังนั้น ถ้าอยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ก็ควรมีมาตรการเชิงบวก ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ก็เป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายอยากได้ แต่ต้องมองในส่วนของรัฐบาลด้วยว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะรัฐบาลมีงบรายจ่ายที่ต้องขยับขยาย

 

 นายไชยยันต์ กล่าวเสริมว่า ในยอดการกู้ร่วมที่ซื้อโครงการของบริษัทฯมีประมาณ 20-25% ซึ่งในจำนวนนี้ จะมีผู้กู้ร่วมที่มีชื่ออยู่ในโฉนดประมาณ 50% ที่เหลืออีก 50% จะเป็นเพียงนำชื่อเข้ามาใส่ในสัญญาการขอสินเชื่อเท่านั้น " ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เรื่องประเด็นการกู้ร่วม มีผลต่อยอดไม่อนุมัติสินเชื่อ เนื่องจาก ผู้กู้ร่วม พอรู้ข้อมูลและรู้กฎว่า จะถูกนับรวมเป็นผู้กู้ในการซื้ออสังหาฯแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ใส่ชื่อเข้าไปในสัญญา"