วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 12:46 น.

ภูมิภาค

20 ปีแห่งการรอคอย อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง

วันพุธ ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562, 22.04 น.

ดันอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง
20 ปี...แห่งการรอคอย

ชาวบ้านตำบลป่าแดด ร้องขออ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ล่าสุดเดินทางไปยังกรมชลประทาน พบผู้บริหารกรมฯ ยื่นหนังสือขอติดตามเร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จนในที่สุดนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ส่งนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ลงพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พบปะประชาชนผู้ร้องขอและต้องการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ที่มารอต้อนรับคณะ เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ พร้อมทั้งเดินชมพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้าง

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า จากที่ชาวบ้านได้ขอให้ทางกรมชลประทานเร่งทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ของอ่างแม่ตาช้างให้เร็วขึ้น เนื่องจากชาวบ้านรอกันมานานกว่า 20 ปี  พื้นที่มีนาข้าวและสวนลำไยจำนวนหลายหมื่นไร่ แต่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง และอิทธิพลพายุโพดุลช่วงที่ผ่านก็ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและถนนภายในหมู่บ้าน จริง ๆ แล้วสภาพของพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ หากมีการสร้างอ่างจะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 32 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความเหมาะสม

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวด้วยว่า เดิมพื้นที่มีฝายกั้นแม่น้ำประมาณ 3 แห่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ 4,000 -5,000 ไร่ หากสร้างอ่างและสร้างท่อส่งน้ำเพิ่มโดยระบายน้ำไปยังฝายทั้ง 3 แห่ง จะทำให้อ่างโปรยน้ำไปยังพื้นที่ทางการเกษตรได้กว่า 10,000 ไร่ สามารถนำน้ำไปใช้ทำนาหรือทำสวนผลไม้ได้อย่างทั่วถึงทุกแปลง อดีตที่ไม่มีการสร้างเพราะเป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกัน แต่ปัจจุบันชาวบ้านมีความต้องการ ซึ่งหากสร้างเสร็จความอุดมสมบูรณ์ก็จะตามมา ลดปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ลดปัญหาน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งอาจลดปริมาณน้ำท่วมให้น้อยลงหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย

“เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานสร้างขึ้นมาจะคำนึงถึงคือความมั่งคงแข็งแรง สร้างแล้วประชาชนต้องนอนหลับไม่กังวลกับเรื่องภัยพิบัติที่จะตามมา โดยจะมีการออกแบบที่ได้มาตรฐานของโลก ตั้งแต่ฐานราก ประเภทของดินใช้บดอัดหรือการทำสิ่งกีดขวางทางน้ำ จ.เชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบในเรื่องของแผ่นดินไหว ซึ่งตรงนี้ยืนยันแล้วพื้นที่ไม่มีผลกระทบในเรื่องของแผ่นดินไหวโดยมีการดูในเรื่องของเครื่องมือในการตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนและสอบถามข้อมูลเชิงกายภาพของพื้นที่

“หากทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่ามีความเหมาะสมและทางพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำเข้าที่ประชุม ครม. ก็จะมีงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการหากได้รับการอนุมัติก็จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปีก็จะสำเร็จ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

ด้านนายนิกร อภัยพนันธ์ อายุ 52 ปี ชาวบ้านป่าแดด กล่าวว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ใน 22 หมู่บ้านของ ต.ป่าแดด ต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ตาช้างมาใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค แต่ที่ผ่านมาเมื่อฤดูฝนก็เกิดน้ำป่าไหลหลากไปหมด ในช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรทำให้เกิดการแย่งน้ำกันตั้งแต่บนดินจนถึงใต้ดิน

“หากมีการสร้างเขื่อนจะมีผลดีอย่างมากต่อชาวบ้าน ไม่เพียงแต่ใน ต.ป่าแดด เท่านั้น เพราะยังมีอีก 4 ตำบลใน อ.แม่สรวย และอีกอย่างน้อย 4 อำเภอ รวมไปถึง จ.พะเยา ที่จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพราะลำพังเขื่อนแม่สรวยที่มีอยู่ น้ำจะถูกนำไปใช้ในพื้นที่อื่น แต่คนแม่สรวยจริงไม่ได้ใช้น้ำเหล่านั้น ที่ผ่านมามีกลุ่มเอ็นจีโอมาปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความกลัวว่าอ่างจะแตกบ้าง อะไรบ้าง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่อยากให้มี แต่ปัจจุบันทำคนเห็นชอบหมดเพราะต้องให้เข้ามาแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม” นายนิกร กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2536 อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริเวณหัวงานและอ่างเก็บน้ำส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) จึงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่ โดยการก่อสร้างจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 815 ล้านบาท

จากการออกแบบเบื้องต้น จะมีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซนที่มีความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร ความยาวเขื่อน 657 เมตร ความสูง 42 เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นยาว 70 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 259.5 ลบ.ม./วินาที รวมถึงมีท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร  ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 31 หมู่บ้าน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้วย และตำบลแม่พริก มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 17,200 ไร่

หน้าแรก » ภูมิภาค