วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 06:49 น.

ภูมิภาค

กรมชลฯ เดินหน้าก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี เสร็จเกือบ 100 %

วันพฤหัสบดี ที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2563, 20.50 น.
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 นายยุทธนา  มหานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบไว้ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร ที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อําเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49,500ไร่ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศสูงต่ำแตกต่างกันมาก     ประกอบกับมีพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำมาจากเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านทางท่อซีเมนต์ใยหิน ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2529 จึงมีสภาพชํารุดทรุดโทรม แตก และ รั่วซึมเสมอ ส่งผลให้สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์  อีกทั้งไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ   ยังส่งน้ำได้เพียง 5,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 50,000 ไร่ ทําให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง และไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร
 
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ 11 ปี (2554-2564) ประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบพร้อมอุโมงค์ส่งน้ำ  และ  ท่อส่งน้ำ ปัจจุบันผลการดำเนินงานแล้วกว่าร้อยละ 99.124 ใกล้จะเสร็จเกือบ 100 % เตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนืออ่าง   ฯ  ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (46/2563) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 เรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (  มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 - 4 เมษายน 2563  ) " ในช่วงวันที่ 1 - 4 เมษายน 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่ากับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไปนั้นสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย โดยรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และ แม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย  ซึ่งหากโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โดยมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 53,000 ไร่ 9 ตำบล ช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพที่ได้เสียสละที่ดิน เพื่อก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำมานานกว่า 40 ปี ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำน่าน  รวมทั้งยังได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบโครงการฯ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย.

หน้าแรก » ภูมิภาค