วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 05:25 น.

ภูมิภาค

ชาวบ้านริมลำน้ำบางปะกง วอนช่วย น้ำเซาะบ้านจ่อพัง ที่ดิน 4 ไร่ เหลือแค่ 3 งาน

วันเสาร์ ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 10.51 น.
วันที่ 23 พ.ค. 63 เวลา 08.30 น. นายเมธี วงษ์หอย อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31-32 ม.1 ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า บ้านของตนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่แปลงนี้มานับตั้งแต่บรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่า ตายาย บนที่ดิน 2 โฉนดเนื้อที่ประมาณเกือบ 4 ไร่ เดิมเป็นร่องสวนหมาก พลู มะพร้าว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ถูกน้ำในลำน้ำบางปะกงกัดเซาะอย่างหนักมาเกือบตลอดทุกปี
 
นับตั้งแต่หลังการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงทางตอนบนเมื่อ 20 ปีก่อน และได้มีการทดลองปิดเขื่อน จึงทำให้ระดับน้ำในลำน้ำมีระดับสูงขึ้นและต่ำลง ผิดไปจากธรรมชาติ ในช่วงภาวะกระแสน้ำไหลลงระดับน้ำจะลดลงต่ำมาก และในภาวะที่กระแสน้ำไหลขึ้นระดับน้ำจะขึ้นสูงจนเอ่อล้นลำน้ำ ความแตกต่างของระดับน้ำที่ผิดไปจากกันมากหลายครั้ง ในช่วงระยะเวลา 1 วัน จึงเป็นเหตุทำให้แผ่นดินชายขอบตลิ่งพังทลายลงสู่ลำน้ำ
 
ต่อมาในปี 2554 เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ ทางกรมชลประทาน ได้เปลี่ยนเส้นทางการระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในภาคกลางและภาคเหนือ ผันข้ามลำน้ำออกมาจากกรุงเทพฯ ผ่านมาทางคลองประเวศบุรีรมย์เพื่อนำมาระบายลงสู่ลำน้ำบางปะกง จึงยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะของกระแสน้ำอย่างรุนแรง และลุกลามเข้ามายังในพื้นที่ของตนซึ่งอยู่ติดกับปากคลองระบายน้ำสายนี้ จนทำให้แผ่นดินทรุดตัวหายไปในทุกๆ ปี
 
ซึ่งล่าสุดเมื่อประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา แผ่นดินผืนสุดท้ายได้พังถล่มยุบตัวลงไปอีกครั้ง จนมาถึงใกล้บริเวณตัวบ้านแล้ว เหลือระยะห่างอีกเพียงแค่ประมาณ 2 เมตรเท่านั้น จากที่ดินเดิมจำนวน 2 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ขณะนี้เหลือเนื้อที่อยู่เพียงแค่ประมาณ 3 งานเท่านั้น
 
หลังเกิดการพังทลายตนพร้อมเพื่อนบ้านและญาติข้างเคียงได้พยายามที่จะช่วยเหลือตนเอง ด้วยการทำแนวป้องกัน จากเดิมใช้ไม้ไผ่ปักแต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกระแสน้ำได้ ต่อมาจึงได้พยายามสร้างแนวเขื่อนด้วยการนำเศษหัวเสาเข็มมาปัก แต่ก็ยังเอนเอียงลงสู่ลำน้ำอีก ขณะเพื่อนบ้านที่มีทุนทรัพย์ได้ทำแนวหินทิ้ง และบางรายทำแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบคอนกรีต แต่ล่าสุดแนวเขื่อนคอนกรีตได้พังทลายจมลงไปในน้ำ หายไปทั้งแถบตลอดความยาวกว่า 70 เมตร
 
ที่ผ่านมาได้เคยเข้าไปยื่นหนังสื่อร้องเรียนผ่านทาง อ.บ้านโพธิ์ ไปถึงยังผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน ประตูระบายน้ำท่าถั่ว (ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเหตุ แต่ทุกหน่วยงานล้วนแต่ระบุว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ในการพังทลาย แต่ทางราชการไม่มีงบประมาณที่จะสามารถมาทำการช่วยเหลือได้
 
เนื่องจากเป็นที่ดินเอกชน หรือที่ดินส่วนตัว หลังการลงพื้นที่เข้ามาสำรวจแล้วหลายครั้ง แต่เรื่องก็ยังเงียบหายไปทุกหน่วยงาน จึงหมดหนทางที่จะป้องกันได้แล้ว จึงได้มาร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางสื่อมวลชนในวันนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาทางช่วยเหลือ ทำแนวหินทิ้งป้องกันตลิ่งพังให้ด้วย 

หน้าแรก » ภูมิภาค