วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 21:46 น.

ภูมิภาค

เตรียมเปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ รองรับโควิดหลังหลายรพ.เตียงเต็ม

วันศุกร์ ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2564, 20.41 น.

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 470 เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ที่ล้นจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนใน กทม. และปริมณฑลในการระบาดระลอกที่สาม โดยจะเตรียมความพร้อมและเปิดโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยโควิดภายใน 48 ชั่วโมง และจะเริ่มรับผู้ป่วยตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายนเป็นต้นไป

 


    

ภายในการแถลงข่าวประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี , รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมแถลงข่าวเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จำนวน 235 ห้อง ห้องละ 2 เตียง รวม 470 เตียง และมีเครื่องปรับอากาศ โดยใช้อาคารหอพักสูง 14 ชั้น ชื่อ Dluxx Thammasat อยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ได้มาตรฐาน พร้อมกล้องวงจรปิด มีระบบการรับผู้ป่วย ยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับผู้ป่วยโควิดอาการไม่หนักที่ผ่านการดูแลในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง หรือที่ผ่านการตรวจหาเชื้อจาก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วมีผลบวก โดยจะรับผู้ป่วยทั้งจาก เครือข่าย โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. และปริมณฑลทุกโรงพยาบาล โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากผู้ป่วย นอกเหนือจากการเบิกจ่ายตามสิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมที่มีอยู่เดิม

 

 

เป้าหมายของการเปิด โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์คือการดึงผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนักออกจากการครองเตียงในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. ให้มากที่สุด เพื่อให้ โรงพยาบาลเหล่านี้มีเตียงว่างสำหรับตรวจและรับผู้ป่วยได้ตามปกติ ในวันแรกของการจะเปิดรับผู้ป่วย นอกจากจะมีการ refer ผู้ป่วยโควิดออกจาก รพ. ธรรมศาสตร์ฯ และศิริราชพยาบาลไปยังรพ.สนามธรรมศาสตร์ แห่งละ 20 รายแล้ว ยังมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในกทม. อีกหลายแห่ง ประสานเตรียมส่งผู้ป่วยเข้า รพ.สนามธรรมศาสตร์วันแรกอีกรวมประมาณ 60-70 ราย ตามเป้าหมายของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

 


    

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายโรงพยาบาลงดรับผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เต็ม ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงมีความเห็นให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเปิดโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ทาง กทม.ก็ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามด้วย ประกอบด้วย ราชวิถี 2 จำนวน 60-90 เตียง  และที่บางขุนเทียน จำนวน 300 เตียง และจะขยายให้รองรับถึง 1,000 เตียง ส่วนทางทหารได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้เช่นกันประมาณ 3,000 เตียง ฝากพี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้มีความตระหนักและเข็มงวดต่อตนเองและครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทาง อว.มีโรงพยาบาลแพทย์ในสังกัดจำนวน 22 แห่งทั่วประเทศ ทุกแห่งมีความพร้อมที่จะทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามได้ รวมถึงมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย

 


    

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  กล่าวว่า เนื่องจากมีประชาชนเข้ามารับการตรวจที่โรงพยาบาลมากถึง 100-200 คน ทุกวัน ด้วยความแตกตื่นที่ทุกคนอยากทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ยิ่งทราบข่าวว่าเตียงในหลายโรงพยาบาลเต็มแล้ว ซึ่งความจริงแล้งเตียงภายในโรงพยาบาลไม่ได้เต็ม แต่เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลจะต้องมีการจัดการแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาดูแลแยกจากผู้ป่วยอื่น จึงมีเตียงที่จำกัด การเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จำนวน 470 เตียง ในครั้งนี้ และเราเชื่อว่าจะรับผู้ป่วยจนเต็มภายใน 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้เปิดมาแล้ว 2 ครั้ง จนเกิดความมั่นใจกับประชาชนว่าเราสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี

 


  

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีห้อง AIIR ICU สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 50 เตียง นอกจากนี้ยังมีห้องดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ Isolation Room ที่เป็นห้องแยกอีก 40 เตียง และหอผู้ป่วยรวมกันอีก 20 เตียง โดยภาพรวมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลหลักที่ดูแล ในเขตสุขภาพที่ 4 มี 8 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก ลพบุรี และสระบุรี รวมถึงเราได้อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์ด้วยจึงต้องดูแลผู้ป่วยจากกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมด้วย ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ในส่วนของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียงนั้น ที่เราจะรับต้องเป็นผู้ป่วยที่ผ่านการดูแลจากโรงพยาบาลมาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ในทุกสิทธิ์การรักษา

 


    

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดปทุมธานี มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวน 29 ราย โดยชาวปทุมธานีได้ช่วยกันระวังป้องกันเป็นอย่างดี บุคลากรทางการแพทย์ได้พยายามค้นหาผู้ติดเชื้อ ในส่วนของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกว่า 694 ราย ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดมา ได้มีการส่งกลับบ้านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน ส่วนที่พี่น้องประชาชนที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด อะไรที่เป็นข้อกังกลขอยืนยันว่า ชาวปทุมธานีและทุกส่วนราชการได้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ.

หน้าแรก » ภูมิภาค