วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:22 น.

ภูมิภาค

ชาวบ้านชายแดนแม่สายเดือนร้อนหนัก กลิ่นแรงจากท่าขี้เหล็กแสบจมูก-เวียนหัว ล่ารายชื่อร้องเรียน TBC

วันอังคาร ที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 11.27 น.
วันที่ 1 พ.ย.65  นางอุบล ใจวรรณะ นายกเทศมนตรี ต.แม่สายมิตรภาพ อ.แม่สาย จ.เชียงรายและทหารกองกำลังผาเมือง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.แม่สาย ได้ลงพื้นที่สำรวจ กลิ่นเหม็นตามพื้นที่ชายแดนพื้นที่หมู่บ้าน เหมืองแดงใต้  สันผักฮี้  ป่าซางงาม หมู่บ้านเวียงหอม หมู่บ้านสันทราย  หมู่บ้านปิยะพร และหมู่บ้านสันมะนะ ที่ติดกับลำน้ำสาย ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงกันข้าม จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เนื่องจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามักมีกลิ่นเหม็นโชยมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 20.00 น.ทุกคืน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือนแล้ว  
 
จากการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านพบว่ากลิ่น ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นกลิ่นขยะหรือการเผาไหม้ของขยะ แต่มีลักษณะคล้ายกลิ่นถ่านหินหรือสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ในโรงงานอุตสหกรรม  มีกลิ่นโชยจากชายแดนเข้ามาประมาณ 4 กิโลเมตรทุกค่ำคืน และจะมีกลิ่นที่รุนแรงมากในช่วงเวลากลางดึก จนทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้ง 7 หมู่บ้านดังกล่าวมีอาการแสบจมูก วิงเวียนศีรษะและบางรายปวดศีรษะ  
 
โดยชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านจึงกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อเทศบาล ต.แม่สายมิตรภาพ และที่ว่าการ อ.แม่สาย เพื่อให้อำเภอส่งมอบให้กับหน่วยประสานงานชายแดน คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee:TBC) ไทย-เมียนมา เพื่อให้ทาง TBC ฝ่ายไทย เพื่อแจ้งต่อฝ่าย จ.ท่าขี้เหล็ก ให้ได้รับทราบและแก้ไขไม่ให้เกิดกลิ่นขึ้นอีก ขณะที่การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นทางสำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สาย ได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย และศูนย์อนามัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกลิ่นให้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งเพื่อสรุปประเภทของกลิ่น  
 
รายงานข่าวพบว่าปัจจุบันกลุ่มบริษัทหงปังซึ่งเป็นกลุ่มทุนหลักของชนกลุ่มน้อยว้าแดงที่ปกครองพื้นที่เขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ได้ให้บริษัทหลอยสามซองซึ่งอยู่ในเครือเข้าไปก่อสร้างโรงงานที่หมู่บ้านห้องลึก จ.ท่าขี้เหล็ก ติดกับ อ.แม่สาย จำนวน 2 แห่ง โดยเป็นโรงงานยางพาราแผ่นและโรงงานแต่งแร่แมงกานีส พื้นที่ 250 ไร่  เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมที่ทางการเมียนมาได้เวนคืนจากชาวบ้าน 1,500 ไร่ และได้ขนแร่แมงกานีสจากเหมืองแร่ที่เมืองโกซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ไปเก็บเอาไว้เพื่อรอขนส่งเข้าสู่ประเทศไทย โดยเริ่ม ตั้งแต่ปี 2550 โดยขุดขึ้นมาแล้วกว่า 293,408 ตัน มูลค่า 4,519,388 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงงานยางพาราแผ่นเพื่อรองรับผลผลิตยางพาราในรัฐฉานที่มีการปลูกกว่า 217,950 ไร่ เพื่อส่งไปยังประเทศจีน และเหมืองแร่ทองคำพื้นที่บ้านนาไฮหลง เมืองเลน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง จ.ท่าขี้เหล็ก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร  
 
นอกจากนี้ จ.ท่าขี้เหล็ก เคยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในท่าขี้เหล็กโดยจะนำถ่านหินลิกไนต์ที่พบในเขตติดต่อไทย-เมียนมา ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก-จ.เมืองสาด  ขนาด 12 เมกะวัตต์ เพือใช้ในโครงการบริษัทสามเหลี่ยมทองคำไฟฟ้าพลังน้ำของกลุ่มบริษัทหงปัง โดยนายแพลหม่อง เอ อดีตผู้บัญชาการทหารบกของประเทศเมียนมา เคยไปวางศิลาฤกษ์โครงการเมื่อปี 2543 แต่เนื่องจากมีการต่อต้านจากชาวบ้านในฝั่งไทยด้าน อ.แม่สาย ที่กังวลเกี่ยวกับมลพิษทำให้ทางประเทศเมียนมายกเลิกโครงการนี้ไป  

หน้าแรก » ภูมิภาค