วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:27 น.

ภูมิภาค

รมว.พม. กำชับ ศบปภ.ภาคกลาง พม. เตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติครบทุกมิติ

วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 19.38 น.

ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารการดูแลกลุ่มประมาณจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคกลาง และ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดอุทัยธานี พิจิตร นครสวรรค์) พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะในการบริหารดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่น นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม รวมทั้งมี สส. พรรคชาติไทยพัฒนา อาทิ นายประภัตร โพธสุธน นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ นายสรชัด สุจิตต์ และนายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายอุดม โปร่งฟ้า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี  เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

ซึ่งได้มีการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับภาค โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (ผอ.สสว.) สสว.1 สสว.2 สสว.3 สสว.7 และการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับจังหวัด โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด (จังหวัดสุพรรณบุรี, นครปฐม, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, ลพบุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, สระบุรี, นครนายก, สมุทรปราการ, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด) และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 3 จังหวัด (จังหวัดอุทัยธานี พิจิตร นครสวรรค์)
               

สำหรับพื้นที่ภาคกลางมีการแบ่งสถานการณ์น้ำท่วมออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงที่สอง ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งมีกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 885,650 คน โดยมีผู้สูงอายุมากที่สุด จำนวน 638,407 คน รองลงมา ได้แก่ เด็ก จำนวน 114,592 คน คนพิการ จำนวน 108,609 คน และคนยากไร้ จำนวน 24,042 คน

ขณะนี้ กระทรวง พม. มีความคืบหน้าในการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ 1) การจัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV เพื่อขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัว

ซึ่งที่ผ่านมา พม.ได้ร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) ขับเคลื่อนงานด้านมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Social Dimensions of Climate Change) ในภาพรวมได้เห็นสอดคล้องกันว่า บทบาทของกระทรวง พม. จะไม่เพียงอยู่ในช่วงของการช่วยเหลือฟื้นฟูเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสนับสนุนข้อมูลให้แก่จังหวัด ด้วยการชี้เป้าได้ว่า กลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัตินั้น คือใคร อาศัยอยู่ที่ไหน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้สามารถจัดลำดับในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

หน้าแรก » ภูมิภาค