วันพุธ ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567 01:31 น.

ประชาสัมพันธ์

สทน. กวาด 2 รางวัลเด่นจากสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย

วันพุธ ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562, 10.57 น.

สทน. กวาด 2 รางวัลเด่นจากสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย

 

แม้ความรู้ความเข้าใจของคนในประเทศไทยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ตลอดจนความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการด้านนี้ จะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นับตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย  ไม่เคยปรากฏว่าเกิดอุบติเหตุจากการดำเนินงานแม่แต่ครั้งเดียว  ดังนั้น ในระดับนานาชาติ สถานะของประเทศไทยจึงได้รับความเชื่อถืออย่างมากในด้านการกำกับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

ดร.พรเทพ  นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย (Forum for Nuclear Cooperation in Asia : FNCA ) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูในทางสันติ ในภูมิภาคเอเชีย 12 ประเทศ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล FNCA Award ให้แก่ประเทศที่มีผลงานวิจัยในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หรือเป็นผลงานทางด้านวิชาการที่โดดเด่น  ได้มอบรางวัลให้แก่โครงการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ในปีนี้มีผลงานเด่นของ สทน. ได้รับรางวัล Excellent Research Project Team  จำนวน 2 ผลงาน คือ  ความปลอดภัยด้านรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี (Radiation Safety & Radio Waste Management) ของศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมสำคัญในด้านการจัดการความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีให้กับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ หนึ่งในงานสำคัญ คือ การเป็นที่ปรึกษาให้กับ มหาวิทยาลัยสุรนารี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็กเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยกิจกรรมสำคัญคือ การจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังทางรังสีในกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดการอบรมด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีและการเฝ้าระวังทางระวังทางรังสีให้กับผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสีของ สทน. ได้จัดกิจกรรมร่วมกับ FNCA เพื่อพัฒนาการจัดการกากกัมมันตรังสี การพัฒนาด้านกฎหมาย การชำระล้างหากเกิดอุบัติเหตุทางรังสี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกากกัมมันตรังสีประเภทของเหลวอีกด้วย สำหรับผลงานที่สองที่ได้รับรางวัล คือ การวิจัยการใช้ประโยชน์จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน Electron Accelerator Application การใช้ พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง หรือ Super Water Absorbent (SWA) ในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร ซึ่งพอลิเมอร์ดังกล่าวผลิตโดยใช้แป้งมันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการฉายรังสีเพื่อปรับคุณสมบัติให้สามารถอุ้มน้ำได้ 200 เท่า และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลิตจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทดลองนำไปผสมดินเพื่อเพาะปลูก มะปราง พริก คะน้า กะหล่ำปลี ทำให้ลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก และนักวิจัยได้ทดลองนำพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง ไปใช้ในพื้นที่ประสบภัยแล้งที่เพาะปลูกส้มโอ และกล้ายาง ให้สามารถรอดชีวิตได้จนเติบโตขึ้นจนเป็นต้นยางได้ ซึ่ง สทน. มีแผนการในการขยายการจาก 100,000 กิโลกรัมต่อเดือนเป็น 100,000 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรต่อไป

         

ดร.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานของ สทน. ทั้ง 2 โครงการ จะได้รับการประกาศเกียรติคุณ ในนามประเทศไทย ในการประชุม FNCA Ministerial Level Meeting ครั้งต่อไปจัดที่ญี่ปุ่น วันที่ 6 ธันวาคม ศกนี้ และมีความเชื่อมั่นว่าผลงานของ สทน. จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศ   และจะเป็นหน่วยงานที่เป็นที่พึ่งพาด้านความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ

 

 

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์