วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 20:19 น.

ประชาสัมพันธ์

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม

วันจันทร์ ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 18.54 น.
กรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม 
 
 
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับมอบหมายจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เป็นประธานการแถลงข่าวการตรวจสอบสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ร่วมด้วยนายสมปอง ทองศรีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้อำนวยการสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย หน่วยงาน NGO และ IGO และเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารเอนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทั้งวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์การเข้าพื้นที่ตรวจสอบสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ณ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการตรวจสอบสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ดังนี้ 
๑. ความเป็นมา
นายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์
 
ครั้งแรก : เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๑ ชื่อ “ดิษฐ์วิไลสวนเสือ” ตั้งอยู่ที่ ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี (ประสบปัญหาความไม่สงบในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัด จึงเลิกกิจการและย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่)
 
ครั้งที่ ๒ : เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ชื่อ “มุกดาสวนเสือและฟาร์ม”ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางทรายใหญ่อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และมีการต่ออายุใบอนุญาต จำนวน ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑ คือ ใบอนุญาตฉบับปัจจุบัน
 
๒. พฤติการณ์แห่งคดี
 
๑. เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง เข้าตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดา  สวนเสือและฟาร์ม ตามข้อสั่งการแต่ไม่พบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕
 
๒. เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี)เข้าตรวจสอบควบคุมกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ตามแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และได้ทำการตรวจอายัดสัตว์ป่าต่างประเทศ จำนวน ๔ รายการ ๑๖ ตัว ที่อยู่ในความดูแลของนายธรวัฒน์ ธรรมเวช เพื่อให้นำหลักฐานการได้มาซึ่งสัตว์ป่าดังกล่าว มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน ๑๕ วัน โดยทางสวนสัตว์ฯ ได้          นำเอกสารหลักฐานมาแสดงแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าไม่เพียงพอ
๓. เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) จึงเข้าตรวจยึดจับกุมสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน ๑ ชนิด ๑ ตัว และสัตว์ป่าต่างประเทศ จำนวน ๑๐ ชนิด ๔๔ ตัว     ภายในสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม และนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัด          ศรีสะเกษ ตามคดีอาญาที่ ๕๘/๒๕๖๒ ยึดทรัพย์ที่ ๒๐/๒๕๖๓ ฐานความผิด นำของต้องห้ามต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต,นำเข้าสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓        สำนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร ได้แจ้งผลการดำเนินคดีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายธรวัฒน์ฯเนื่องจากคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องและสั่งคืนของกลาง
 
๔. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เก็บตัวอย่างเลือดของเสือโคร่งจำนวน ๕ ตัว เพื่อตรวจสอบพันธุกรรม (DNA) โดยการดำเนินการของสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และได้รับความยินยอมจากนายสมดิษฐ์ฯ พร้อมเก็บภาพถ่ายลายเสือโคร่งจำนวนดังกล่าว และให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เป็นผู้รับมอบตัวอย่างทั้ง 3 ชุด โดยมอบให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า จำนวน ๒ ชุด และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จำนวน ๑ ชุด เพื่อนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
๓. ผลการพิสูจน์รหัสพันธุกรรมจาก ๒ หน่วยงาน
 
ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช : รายงานเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน๒๕๖๓ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม : รายงานเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ผลปรากฏว่าลูกเสือโคร่งชื่อ ข้าวยำ ข้าวกล่ำ และข้าวจ้าว ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่ง ชื่อให้ลาภและให้ทอง         แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ทำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกเสือโคร่ง จำนวน ๓ ตัว ไปเปรียบเทียบข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเสือโคร่งอื่น จำนวน ๒๐ ตัว ภายในสวนสัตว์พบว่าไม่มีความสัมพันธ์เป็นพ่อ - แม่ – ลูก เช่นกัน
 
๔. ความเห็นในการดำเนินคดี: เมื่อผลตรวจรหัสพันธุกรรมของลูกเสือโคร่งชื่อ ข้าวยำ ข้าวกล่ำ และ    ข้าวจ้าว ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่ง ชื่อให้ลาภและให้ทอง หรือเสือโคร่งอื่นๆ ภายในสวนสัตว์ จึงถือได้ว่าลูกเสือโคร่ง จำนวน ๓ ตัว ข้างต้น ไม่มีหลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการที่นายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ได้มีหนังสือลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘ แจ้งเกิดลูกเสือโคร่ง ๔ ตัว (เกิดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๘) และระบุตัวพ่อ – แม่ของเสือโคร่งดังกล่าวอย่างชัดเจน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่จดและบันทึกข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นหลักฐาน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา ๑๓๗ และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา ๒๖๗
 
เป็นเหตุให้: วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชประกอบด้วย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย (GEF - 6 ) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยพญาเสือ)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเสือโคร่ง จำนวน ๓ ตัว (เพศผู้ ๑ ตัว เพศเมีย ๒ ตัว)ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ณ สวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม เลขที่ 200 หมู่ที่ 10 ตำบลบางทรายใหญ่    อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และภายหลังการตรวจยึดกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
 
๑. ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
 
๒. นำเสือโคร่งของกลางไปดูแลรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์