วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 05:01 น.

สังคม-สตรี

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะเจดีย์วัดจันทร์

วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561, 17.47 น.

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

 เสด็จติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะเจดีย์วัดจันทร์

 

 

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์  เสด็จติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะเจดีย์ และโครงการวาดภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถ ณ วัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่  ในการนี้ นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา  ตัวแทนสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่  และศิลปินวาด เฝ้ารับเสด็จ

 

เนื่องด้วยเมื่อครั้งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จมายังวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นการส่วนพระองค์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงได้สนทนาธรรมกับ พระครูปลัดนิคม  กิจฺจสาโร เจ้าอาวาสวัดจันทร์ ซึ่งเจ้าอาวาสได้เล่าประวัติความเป็นมาของวัดและได้ปรารภเรื่องเจดีย์เกิดการชำรุดและทรุดโทรมมากตามกาลเวลา พร้อมทั้งเจอปัญหาจากแผ่นดินไหว หากปล่อยไว้อาจทำให้เจดีย์ซึ่งเป็นศิลปแบบล้านนาที่มีความสำคัญพังลงมา และเจ้าอาวาสได้นำเสด็จทอดพระเนตรความชำรุดเสียหายของเจดีย์  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงห่วงใย หากปล่อยไว้อาจทำให้เจดีย์ที่สำคัญพังลงได้ เพราะเจดีย์องค์นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงทรงมีพระประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์  ทั้งนี้เจ้าอาวาสได้แจ้งว่า ภายในอุโบสถยังขาดจิตรกรรมฝาผนัง จึงขอให้ช่วยหาทีมมาออกแบบและวาดจิตรกรรมภายในอุโบสถ ซึ่งเป็นอุโบสถหลังแรกในอำเภอกัลยาณิวัฒนา

 

 

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเสด็จมายังวัดจันทร์ และทรงเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการบูรณะเจดีย์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำแบบในการบูรณะเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันแบบในการบูรณะเจดีย์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศิลปากร  ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการบูรณะเจดีย์ เพื่อเสริมความมั่นคงตัวองค์เจดีย์วัดจันทร์โดยการบูรณะนั้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑

 

 

ส่วนการดำเนินการวาดภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์ให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงของทางล้านนา ได้เป็นผู้ออกแบบภาพวาด เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่และสามารถเข้าถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่นได้ดีที่สุด ปัจจุบัน จิตรกรรมอยู่ในระหว่างเสนอภาพร่างต้นแบบงานจิตรกรรม เพื่อพิจารณา เนื้อหา รูปแบบ เทคนิค วิธีการ เพื่อความเหมาะสม กับจิตรกรรม  ในอุโบสถวัดจันทร์ โดย ศิลปินทางภาพเหนือ ๓ ท่าน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิปิกร มาแก้ว อาจารย์อานัน ราชวังอินทร์ อาจารย์พรชัย ใจมา ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีแนวคิดเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ ทศชาติ (พุทธประวัติชาดก) และสอดแทรกเรื่องราววิถีวัฒนธรรม ของชนเผ่าปกาเกอะญอ เข้าไปให้มีความสัมพันธ์กับในภาพ ทั้งเนื้อหา และเรื่องราว  ผนังด้านหลัง  พระประธานเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ส่วนผนังตรงข้าม  พระประธานเป็นจิตรกรรมนำเสนอเรื่องราวของในหลวง ร.๙ เสด็จวัดจันทร์และทำพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน ทรงสอนให้เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพื้นเมืองหนาว วางระบบชลประทาน ทรงพระราชทานกระจกในวิหารใส่แว่น โดยมีพระประสงค์ให้ชาวบ้านทำความดีเพื่อ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้มองเห็น หลังจากเหตุการณ์ที่มีการขโมยพระ

 

 

วัดจันทร์เดิมเป็นวัดร้างไม่ปรากฏประวัติแต่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นมานานกว่า ๓๐๐ ปี ต่อมา ต่อมามีพระธุดงค์อยู่   รูปหนึ่งจาริกจากประเทศพม่ามีนามว่า “หลวงพ่ออุตตมะ”  มาเห็นบริเวณวัดจันทร์เป็นสถานที่สงบยิ่งนัก  จึงปักกลดบำเพ็ญเพียรภาวนา  ในขณะนั้นมีชาวบ้านขุนแจ่มน้อย นามว่า “พ่ออุ้ย     ดูลอย”  กับชาวบ้านห้วยตอง นามว่า “พ่ออุ้ยคำหมื่น”  ได้มาพบหลวงพ่ออุตตมะที่นั่งปักกลด ในบริเวณวัดบ้านจันทร์จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก  คิดที่มาทำบุญถวายทานกับหลวงพ่ออุตมะเป็นประจำ  แต่เนื่องจากหมู่บ้านขุนแจ่มน้อยและห้วยตองอยู่ไกลจากบ้านวัดจันทร์ ประกอบกับการคมนาคมมีความยากลำบาก การมาทำบุญทุกวันย่อมไม่สะดวกนัก จึงได้ตกลงกันว่าจะย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านจันทร์ ตอนแรกมีเพียง  ๔  ครอบครัว  หลังจากที่ย้ายมาแล้วได้ประกาศเชิญชวนชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์  โดยมีหลวงพ่ออุตตมะ  เป็นประธาน  หลังจากได้ช่วยกันบูรณะพระเจดีย์ใกล้จะสำเร็จ หลวงพ่ออุตตมะก็ลาชาวบ้าน เพื่อธุดงค์กลับประเทศพม่า  และในระหว่างการเดินทางท่านได้เกิดอาพาธอย่างหนัก   ในที่สุดท่านก็มรณะในระหว่างเดินทาง

 

 

ต่อมาประมาณ พุทธศักราช  ๒๔๗๓  มีพระครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนาไทยได้เดินธุดงค์มาทางอำเภอปาย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ผ่านบ้านเมืองแปงและมาวัดบ้านจันทร์  จึงได้มาพักค้างคืนที่วัดจันทร์เห็นพระธาตุที่สร้างไว้ยังไม่แล้วเสร็จ  จึงนำชาวบ้านมาบูรณะพระเจดีย์    ที่ยังไม่เสร็จ  หลังจากที่การบูรณะเสร็จสิ้นก็มีการยกยอดฉัตรโดยพระบาเจ้าศรีวิชัย  มีการทำบุญเฉลิมฉลองกัน ๗ วัน หลังจากเสร็จพิธีการยกยอดฉัตร  ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็จาริกไปทางอำเภอสะเมิง  จังหวัดเชียงใหม่

 

ต่อจากนั้นชาวบ้านก็นิมนต์ พระอินทนน (ไม่ทราบฉายา) มาอยู่ประจำวัดบ้านจันทร์   ซึ่งในสมัยนั้นมีวัดจันทร์วัดเดียวเท่านั้น  ในแต่ละปีจะมีชาวบ้าน  มาร่วมทำบุญเป็นประจำทุกปีเป็นจำนวนมาก

 

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้มีชาวบ้านนำโดย นายริโย ชัยมังกร (ผู้ใหญ่บ้าน) นายสะนุแกะ นายสวยคา ผานุ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านวัดจันทร์  ได้ไปติดต่อท่านพระครูกิตติ ศีลคุณ  เจ้าอาวาสวัดเจียง ตำบลช่างเคิ่ง  อ.แม่แจ่ม  รองเจ้าคณะอำเภอ อยากได้พระภิกษุสงฆ์ไปอยู่ประจำวัดจันทร์ เพราะเป็นวัดเก่าแก่ แต่เคยเป็นวัดร้างช่วงที่ขาดพระภิกษุประจำก่อนที่จะ  มาติดต่อ ที่ผ่านมาได้มีพระภิกษุที่เป็นพระกะเหรี่ยงอยู่มาก่อน ๒ รูป คือ พระกร ชินวณุโณ และ พระสมัคร วิชโย ก่อนที่พระสมัครได้ลาสิกขา เหลือแต่พระกร  ชินวณฺโณ ท่านก็ชราภาพ ต่อมาก็มรณภาพ  ไม่มีพระอยู่ประจำ  บางปีก็มีพระธุดงค์ไปพักแต่ไม่จำพรรษา  ท่านพระครูกิตติ    ศีลคุณ จึงแนะนำให้ไปหา พระครูโอภาส คณะภิบาล  วัดหมื่นล้าน ตำบลหายยา อ.เมือง   จ.เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม ในขณะนั้น คณะศรัทธานำโดยนายริโย   ชัยมังกร  จึงเข้าไปในเมือง ไปหาเจ้าคณะอำเภอไปเรียนให้ท่านทราบตามคำแนะนำของท่านพระครูกิตติ ศีลคุณ เจ้าคณะอำเภอก็รับคำ แล้วแนะนำให้ไปขอพระธรรมจาริกที่วัดศรีโสดา  ซึ่งมี พระศรีวงศ์ หัวหน้าพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา จึงจัดส่ง พระอุไร  มหาวีโร เป็นผู้ขึ้น ไปปฏิบัติงาน

 

ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๖ คณะศรัทธานำโดยผู้ใหญ่บ้านนายริโย ชัยมังกร ผู้ใหญ่บ้านวัดจันทร์ และนายโกเซ ผู้ใหญ่บ้านโป่งขาว  ไปรับที่วัดศรีโสดา

 

ต่อมาพระธรรมจาริก จึงได้นำเรื่องเสนอต่อ ท่านนายอำเภอแม่แจ่มและหัวหน้าหมวดการศึกษาขอตั้งโรงเรียน  ใช้ชื้อโรงเรียนธรรมวงศ์วิทยา “ธรรมจาริกอุปถัมภ์” เมื่อได้รับการอนุมัติอนุญาตให้สร้างโรงเรียนก็ได้สร้างอาคารชั่วคราวขึ้นทำการสอนโดยอาจารย์ใหญ่คือ ครูดวงเดช คำออน เป็นครูสอนคนแรกร่วมกับนายนนทชัย ทองก้อนสิงห์  ครูกรมประชาสงเคราะห์  และพระธรรมจาริกสอนร่วมกัน   ต่อมาได้เปิดอย่างทางการแล้ว พระอุไร มหาวีโร  ก็ได้ย้ายจากบ้านวัดจันทร์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙  ได้มีพระไปประจำต่อคือ พระศาสนะ  สาสโน และ พระประเสริฐ ติรสโธ ได้ปฏิบัติงานต่อไป

 

 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชีนีนาถ  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ชาวเขาในถิ่นทุรกันดาร มีการจัดตั้งศูนย์ศีลปาชีพ  เพื่อเสริมสร้างรายได้จากการทอผ้าจำหน่าย  ให้แก่ชาวบ้านในตำบลบ้านจันทร์    

 

ในวันที่  ๘  เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑  ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ยกสถานะวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา และปัจจุบันวัดจันทร์เป็นที่ตั้งของศูนย์อบรมศีลธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงของโครงการพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา   จ.เชียงใหม่ มีหน้าที่ดูแลพระธรรมจาริกและอาศรมต่างๆ ในเขตอำเภอแม่แจ่มตอนบน  รวมทั้งสิ้น ๒๗ อาศรมฯ และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ ได้มีการตั้งเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา

 

 

  

 

 

 

 

 

หน้าแรก » สังคม-สตรี

ข่าวในหมวดสังคม-สตรี