วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 04:02 น.

กีฬา

"สมรักษ์"ประเดิม"วิ่งธงชาติไทย 35 จังหวัด รวมใจสู่ชัยชนะพิชิตเหรียญทองโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น

วันอาทิตย์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564, 17.41 น.

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย นักวิ่งที่สมัครร่วมกิจกรรม “วิ่งธงชาติไทย...รวมใจสู่ชัยชนะ" งานวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ต่อเนื่อง 61 วัน 35 จังหวัด 4,606 กม. ต่างเดินทางมาร่วมกันเป็นสักขีพยาน ที่จุดปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่ทีมงาน ผู้สมัครวิ่งทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ผ่านการตรวจเช็คสภาพร่างกาย และผ่านมาตรการคัดกรองป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วทุกรายก่อนเข้าร่วมกิจกรรม          

เมื่อได้ฤกษ์ปล่อยตัวในเวลา 05.00 น. ซึ่งถือเป็นการคิกออฟกิจกรรมวิ่งในวันที่ 1 อย่างเป็นทางการ นักวิ่งที่ถือธงไตรรงค์ ออกจากจุดปล่อยตัวเป็นรายแรก คือ นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโร่นักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์คนแรกในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ซึ่งเจ้าตัววิ่งโบกสะบัดธงเป็นระยะทาง 1 กม. มุ่งหน้าไปยัง ม.รามคำแหง เพื่อส่งต่อให้กับนักวิ่งในจุดที่ 2


          
สำหรับรายนามนักวิ่งที่มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์วิ่งผลัดธงชาติไทยตั้งแต่กม.ที่ 2 ถึง กม.ที่ 22 มีทั้งผู้บริหาร ศิลปิน ดารา นักกีฬาทีมชาติไทย และนักวิ่งที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจากทางบ้าน โดยใน กม.ที่ 2 มร.โนริอากิ ยามาชิตะ ประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่วิ่งธง ต่อจาก สมรักษ์ คำสิงห์
          
กม.ที่ 3 เป็นหน้าที่ของ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งงานวิ่งจอมบึงมาราธอน, กม.ที่ 4 ปวีณา ทองสุก จอมพลังฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก 2004, กม.ที่ 5 นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ, กม.ที่ 6 ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา
          
กม.ที่ 7 นาวาโท จำนงค์ เขม้นเขตการณ์ คุณปู่นักวิ่งวัย 85, กม.ที่ 8-9 "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ นักแบดมินตันคู่ผสม มือ 2 ของโลก, กม.ที่ 10 วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2000, กม.ที่ 11 "มิ้นต์" อาริย์ณัฏฐา ชวตานนท์ นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติ, กม.ที่ 12 "วอร์ม" อิศรา อิ่มประเสริฐสุข นักกีฬายิงเป้าบินทีมชาติ
          
กม.ที่ 13-14 ภูธเรศ คงรักษ์ นักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย, กม.ที่ 15 ผู้บริหาร จาก ซี-วิต, กม.ที่ 16 ดำรงศักดิ์ อินกอง, กม.ที่ 17 "วู้ดดี้" วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรชื่อดัง, กม.ที่ 18 ภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด, กม.ที่ 19 ผู้บริหารจาก ซีพี เมจิ, กม.ที่ กม.ที่ 20-22 เป็นนักวิ่งจากทางบ้าน ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งวันแรกกำหนดวิ่ง
          
นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก ปี 1996 เปิดเผยว่า ตื่นเต้นที่ได้รับเลือกให้ออกสตาร์ทเป็นคนแรก ก่อนมาวิ่งในวันนี้ ก็ฟิตซ้อมร่างกายตัวเองให้พร้อมที่สุด ซึ่งตนในฐานะอดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ก็อยากขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจ เอาใจช่วยน้องๆนักกีฬาทุกคน ทุกชนิดกีฬาให้ออกไปทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ เพื่อคว้าชัยชนะกลับมา
          
ปวีณา ทองสุก จอมพลังเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี 2004 เผยถึงความรู้สึกที่ร่วมกิจกรรมนี้ว่า ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนคนไทยอย่างดี ถึงการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งตนก็อยากให้กำลังใจน้องๆนักกีฬาไทยทุกคนที่จะเดินทางไปทำหน้าที่ในมหกรรมกีฬาทั้ง 2 รายการ ขอให้คว้าชัยชนะ ได้เหรียญรางวัลกลับมา รวมถึงปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19
          "
ปอป้อ" ทรัพสิรี และ "บาส" เดชาพล นักกีฬาแบดมินตันคู่ผสมมือ 2 ของโลก เปิดใจร่วมกันว่า ภูมิใจที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวิ่งผลัดธงชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมปลุกกระแสและสร้างการรับรู้ถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนก.ค.นี้ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราทั้งคู่ก็ขอสัญญาว่าจะทำอย่างเต็มที่ เพื่อโอกาสคว้าเหรียญมาให้ชาติและแฟนๆกีฬาชาวไทย
          
อนึ่งขบวนวิ่งผลัดธงชาติไทย ซึ่งออกสตาร์ทในวันแรก วิ่งจากจุดปล่อยตัวที่หน้าอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก กกท. กำหนดให้อาสาสมัครนักวิ่งวิ่งกันคนละ 1 กม.ผ่านไปยังแลนด์มาร์กและเส้นทางสำคัญๆต่างได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆที่ขบวนธงได้ทำการวิ่งผ่านอย่างล้นหลาม โดยตลอดเส้นทางประชาชนต่างออกคอยรับ ปรมมือ และส่งเสียงเชียร์ ให้กำลังใจนักวิ่งที่ผ่านจุดต่างๆอยู่ตลอดเส้นทาง ซึ่งในวันแรก นักวิ่งทั้ง 92 คนใช้เวลาวิ่งราว 12 ชม.จากจุดสตาร์ทถึงปลายทาง ที่สนามกีฬาจังหวัสมุทรสงคราม และวิ่งรวมระยะทางทั้งสิ้น 92.6 กม.
          
สำหรับเส้นทางการวิ่งผลัดธงครั้งประวัติศาสตร์ จะมีขึ้นใน 35 จังหวัด โดยออกสตาร์ท ที่กรุงเทพมหานคร ก่อนวิ่งต่อไปยัง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และมาสิ้นสุดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ
          
ขณะที่การวิ่งวันที่ 2 วันที่ 29 มี.ค.64 จะเริ่มต้นออกสตาร์ทกันตั้งแต่เวลา 06.00 น. ที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสงคราม มุ่งหน้าสู่จังหวัดเพชรบุรี โดยเป้าหมายของวันที่สองอยู่ที่ภารกิจพิชิตเส้นทาง 79.4 กม. และจะใช้นักวิ่งรวมๆ 79 คนในการออกมาร่วมทำภารกิจนี้
          
งานวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ สนับสนุนโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยใน พระบรมราชูปถัมภ์, คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย จำกัด, บริษัท บุญรอด เทรดดิ้งจำกัด, บริษัท เดอะ สวอท์ช กรุ๊ป เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด
          
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ทางเวปไซต์ www.stadiumth.comและเฟสบุ๊คhttps://www.facebook.com/THStadium/

หน้าแรก » กีฬา